วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลุ่มที่ 2 นโยบายสาธารณะ หลักประกันสุขภาพทั่วหน้า( 30 บาทรักษาทุกโรค)


โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
เป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรคไทยรักไทยเมื่อกลางปี2543 เป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติจากการลดอัตราเงินบาท นโยบายนี้จึงได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะจะให้มีการประกันสุขภาพกันถ้วนหน้า ดังนั้นในปี 2544 พรรคไทยรักไทยจึงชนะการเลือกตั้ง
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ใช่เป็นความคิดใหม่หรือแหวกแนวจากระบบประกันสุขภาพอื่นๆ แต่พรรคไทยรักไทยได้เลียนแบบหลักการและรายละเอียดต่างๆจากระบบ Capitation ของสหรัฐฯ ซึ่งเขาจะใช้กับแพทย์ Primary care เท่านั้น แต่ของประเทศไทยใช้กับร.พ.ในสังกัด คือรวมค่ารักษาทั้งหมด จ่ายให้ร.พ.ในสังกัดเป็นรายบุคคลต่อปีโดยจ่ายให้เท่ากันหมด ไม่ได้คำนึงถึงอายุผู้ป่วย งบประมาณของแต่ละโรงพยาบาล และอัตราครองชีพของแต่ละท้องถิ่นซึ่งต่างกัน
เมื่อคราวที่ท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมานิวยอร์ก เมื่อเดือนธันวาคม 2546 ได้กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนทุกคนมีประกันสุขภาพ ผมอยากคัดค้านแต่โอกาสไม่อำนวย ที่จริงแล้วกลุ่มประเทศระบบสังคมนิยม ยุโรปตะวันตก และกลุ่มประเทศสะแคนดิเนเวีย ประชาชนทุกคนมีประกันสุขภาพและไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ เป็นระบบที่รัฐบาลจ่ายให้ทุกคน (Single Payer system)
หลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 ระบบคือ
1.       ระบบประกันสังคม ที่มีมานานแล้ว รัฐบาลจะรับผิดชอบทั้งหมดให้กับผู้ป่วยที่ยากจนทุพพลภาพ รวมถึงเวชภัณฑ์ด้วย ระบบนี้เหมือนกับ Medicaid ในสหรัฐฯ
2.       ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ เป็นระบบที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะรัฐบาลจ่ายค่ารักษาให้ทุกบาททุกสตางค์ และถ้าใช้บริการ.พ.เอกชนก็สามารถ เบิกคืนได้ถึง 80% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ระบบนี้ยังครอบคลุมไปถึงบิดา มารดา สามี ภรรยาและบุตรทุกคน ข้าราชการที่เกษียณก็ได้ผลประโยชน์จากระบบนี้ด้วย
3.       ระบบประกันสุขภาพซึ่งบริษัทหรือผู้ป่วยเสียเงินโดยตรง ระบบนี้มีผู้ใช้บริการน้อยมากเพราะเบี้ยประกันแพงยกเว้นพวกบริษัทต่างประเทศที่มีพนักงานทำงานในประเทศไทย ซึ่งผู้ป่วยประเภทนี้มักเข้าร.พ.เอกชน
4.       พรรคไทยรักไทย ตระหนักดีว่าประชาชนคนไทย 71-72 ล้านคน ไม่มีประกันสุขภาพประมาณ 46-47 ล้านคน ดังนั้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรครัฐบาล นโยบายนี้ผู้เขียนเห็นว่าดีเยี่ยม แต่ในเชิงปฏิบัติและงบประมาณจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงบุคลากร แพทย์ พยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะปฏิบัติหรือไม่
งบประมาณและการแบ่งแยกส่วนการบริการ รัฐบาลได้จัดงบประมาณขั้นต่ำสุดที่จำเป็น
สำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่ากับ 1,202.40 บาทต่อประชากรต่อปีต่อคน เท่าที่ทราบงบประมาณก้อนนี้ได้จากกระทรวงสาธารณสุข ในเชิงปฏิบัติการใช้ระบบเหมา(Capitation)โดยนับหัวประชาชนในท้องถิ่นกับร.พ.ที่ใกล้ที่อยู่อาศัยนั้นไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งต่อประชาชนและโรงพยาบาล ร.พ.ประจำจังหวัดขนาดใหญ่ ร.พ.มหาวิทยาลัย จะเสียเปรียบมาก เพราะร.พ.เหล่านี้ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นปัญหางบประมาณจึงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะไม่เคยมีสถิติการรักษาแบบ Capitation ในประเทศไทยมาก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผอ.ร.พ.นครพนม ร.พ.มุกดาหาร ขณะไปสำรวจร.พ.เพื่อที่จะให้หน่วยแพทย์อาสาสมัครสมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐฯ ไปออกหน่วยในปี 2549 ท่านทั้ง 2 ได้ให้ความเห็นตรงกันคือ ต้องตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงบุคลากร เพื่อความอยู่รอดของร.พ. โครงการ 30 บาทได้เริ่มจริงจังในปี 2545 ผู้ป่วยจึงได้มาใช้บริการที่ร.พเป็นจำนวนมาก. ทำให้รับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นและ ร.พ.ต้นสังกัดจะให้การบริการน้อยในด้านวิเคราะห์โรค เช่น การตรวจเลือด x-ray CT scan, MRI และอื่นๆ เพราะค่าใช้จ่ายสูงและร.พ.ไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ”The less you do the more money you have” ซึ่งขัดกับความจริงในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยควรจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการรักษาที่ถูกต้องมากที่สุด ไม่ใช่นักการเมืองหรือนักบริหาร ที่คอยจะกอบโกยท่าเดียว นักการเมืองบางคนได้ซื้อร.พ.เอกชนในกรุงเทพฯ 2-3 แห่ง โดยใช้ชื่อของเพื่อนบ้าง ญาติสนิทบ้างดำเนินกิจการเสียเอง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ไม่มีเวลารอคิวจะหันไปใช้บริการร.พ.เอกชน โดยไม่ใช้สิทธิ 30 บาท จะเห็นได้ว่าร.พ.เอกชนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดได้ผลกำไรจากการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น
โครงการ 30 บาท รักษาได้ทุกโรคจริงหรือไม่ ????
          ในช่วงหาเสียงของพรรคไทยรักไทยไม่มีรายละเอียดบริการการรักษา แต่ปรากฏว่ามีข้อยกเว้นในการใช้สิทธิหลายกรณีด้วยกัน
1.       กลุ่มที่ปัจจุบันมีงบประมาณจัดสรรให้เป็นการเฉพาะ
·       โรคจิตซึ่งรับการรักษาเป็นผู้ป่วยภายในเกินกว่า 15 วัน
·       การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพย์ติด
·       ผู้ประสพภัยจากรถ ซึ่งสามารถใช้สิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถ
2.       กลุ่มที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน
·       การรักษาภาวะที่มีบุตรยาก
·       การผสมเทียม
·       การเปลี่ยนเพศ
·       ศัลยกรรมตกแต่ง โดยไม่มีข้อชี้บ่งทางการแพทย์
3.       กลุ่มอื่นๆ (การรักษาที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง)
·       โรคเดียวกัน ที่ต้องใช้ระยะเวลาการรักษาผู้ป่วยนานเกิน 180 วัน
·       การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง( Experimental Treatment)
·       การรักษาผู้ป่วยไตวาย เรื้อรังระยะสุดท้าย ด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม( Peritonial & Hemodialysis)
·       ยาต้านไวรัสเอดส์( AIDS) ยกเว้นการป้องกันการแพร่กระจายจากแม่สู่ลูก
·       การตั้งครรภ์และคลอดบุตรเกิน 2 คน (ถ้ามีชีวิตอยู่ทั้ง 2 คน)
·       การเปลี่ยนอวัยวะ เช่น ไต ตับ และหัวใจรวมถึงไขกระดูก
สรุปข้อคิดเห็นจากผู้เขียน
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายและโครงการที่ดี แต่มาประยุกต์กับระบบการแพทย์ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุข มีความแตกต่างกันมาก ขึ้นกับพื้นที่ภูมิภาคของแต่ละส่วนในประเทศไทย งบประมาณ1,204.40 บาท ต่อปีต่อคนทั่วประเทศไทย ไม่ยุติธรรมในด้านงบประมาณ ร.พ, ศูนย์ และ ร.พ.มหาวิทยาลัยจะขาดความก้าวหน้าในด้านวิชาการ การรักษา Technology ใหม่ๆ ที่จะมาใช้ในการบำบัดรักษาให้ได้ผลดีที่สุด ดังพระอนุสาสน์ของสมเด็จพระบรมราชชนกขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ไม่จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้เขียนคิดว่าเป็นการผิดมนุษยธรรมอย่างยิ่ง และเป็นการแพร่กระจายของโรคเอดส์ในสังคมด้วย การฟอกไต การเปลี่ยนอวัยวะ ผู้ที่รับผลประโยชน์มากที่สุดคือข้าราชการ ซึ่งใช้เงินภาษีอากรจากคนไทยโดยตรง แต่ผู้เสียภาษีกลับไม่ได้รับสิทธิเรื่องนี้

ตั้งแต่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้นำออกมาปฏิบัติ จะเห็นได้ว่ามีความระส่ำระสายในกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ในระยะเวลา 4 ปี มีการเปลี่ยนปลัดกระทรวงถึง 4 ท่านเกษียณ 1 ท่าน ลาออก 1 ท่านถูกปลด 1 ท่านและแต่งตั้งใหม่ 1 ท่าน การเปลี่ยนปลัดกระทรวง 4 ท่านใน 4 ปี แสดงให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่รัฐมนตรี
การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง คราวนี้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ปลัดยังเป็นคนเดิม ทั้งรัฐมนตรีและปลัดเป็นแพทย์ทั้งสองท่าน ผู้เขียนขอฝากความหวังไว้กับท่านทั้งสองการรับใช้ประชาชนคนไทยให้มีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้บริการเพื่อสุขภาพและอนามัยเป็นกิจที่หนึ่งของท่าน
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมีงบประมาณในการป้องกันและควบคุมป้องกันโรค แต่ปรากฏว่าร.พ.ในต่างจังหวัดและอำเภอเกือบทุกแห่ง ไม่มีเครื่อง x-ray เต้านม( Mammography) Pap Smear เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะต้น และไม่มีพยาธิแพทย์ที่จะอ่านผล Colonoscopy วิเคราะห์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะต้น ในประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่มีอุปกรณ์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะใช้อุปกรณ์นี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้บริการประชาชนได้ทั่วถึงเพราะไม่มีงบประมาณพอ แต่รัฐบาลไทยมีงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ที่จะเช่าตึก เพื่อที่จะให้มีธงชาติไทยได้ขึ้นเสาบน 5th Aveในนิวยอร์ก !!
ท่านผู้อ่านครับท่านทราบหรือไม่ว่าเงิน 1,200 ล้านบาทนั้นสามารถที่จะซื้อเครื่องMammography ได้ถึง 60 เครื่อง ซึ่งสามารถแจกจ่ายให้ร.พ.ประจำจังหวัดได้เกือบทุกจังหวัด กระผมขอฝากข้อคิดให้กับรัฐบาลว่า คนไทยที่ยากจนยังมีอีกมาก อย่าเอาเงินภาษีอากรของเขามาใช้อย่างไร้สาระ เพื่อที่ท่านจะได้มีผลงานว่ารัฐบาลโดยการนำของท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร สามารถนำธงไทยมาปักที่ 5th Ave.นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กระผมทราบว่าพวกเราชาวไทยที่มาทำมาหากินที่สหรัฐฯไม่มีใครเห็นด้วย กระผมขอแสดงความยินดีต่อทุกท่านที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลไทยจะเอาเงินภาษีอากรของคนไทยมาทิ้งในสหรัฐฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น