วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลุ่มที่ 5 นโยบายสาธารณะ ด้านส่งเสริมอาชีพชุมชน OTOP




ความเป็นมาโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
ในห้วงเวลาที่ประเทศชาติ กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ และประชาชน ทุกระดับ ประสบปัญหาต่าง ๆปัญหาหนึ่งที่ประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศถูก รุมเร้าคือปัญหาความยากจน รัฐบาลจึงได้ประกาศสงครามกับความยากจน โดยได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะจัดให้มีโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้าโดยรัฐพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่ และการบริหารจัดการเพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยระบบร้านค้าเครือข่ายและอินเตอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ด้วยการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นและมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศและได้กำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ พ.ศ. 2544 ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน 2544 ขึ้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ หรือเรียกโดยย่อว่า กอ.นตผ ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปองพล อดิเรกสาร) เป็นประธานกรรมการ และให้คณะกรรมการ กอ.นตผ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์
และแผนแม่บทการดำเนินงานหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์กำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์การคัดเลือกและขึ้นบัญชีผลิตภัณฑ์ดีเด่นของตำบลรวมทั้งสนับสนุนให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนแม่บท อย่างมีประสิทธิภาพ
ปรัชญาของ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นแนวทางประการหนึ่ง ที่จะสร้างความเจริญแก่ชุมชนให้สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการผลิตหรือจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ สอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น สามารถจำหน่ายในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีหลักการ พื้นฐาน 3 ประการ คือ
1) ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local Yet Global)
2) พึ่งตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self-Reliance-Creativity)
3) การสร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)
ผลิตภัณฑ์ ไม่ได้หมายถึงตัวสินค้าเพียงอย่างเดียวแต่เป็นกระบวนการทางความคิดรวมถึงการบริการ การดูแลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรักษาภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีจุดเด่น จุดขายที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วประเทศและทั่วโลก
วัตถุประสงค์ของหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
จากนโยบายของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภา และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2544 การดำเนินงานตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) สร้างงาน สร้างรายได้ แก่ชุมชน
2) สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ให้สามารถคิดเอง ทำเอง ในการพัฒนาท้องถิ่น
3) ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
4) ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
5) ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ( ONE TAMBON ONE PRODUCT : OTOP )
เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐบาลไทย มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้แต่ละชุมชนได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า  โดยภาครัฐ พร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่ และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชน สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยระบบร้านค้าเครือข่าย และอินเตอร์เน็ต และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นและมีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ สอดคล้องกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่น
วัตถุประสงค์
จากความสำคัญและเป้าหมายของโครงการ OTOP ดังกล่าว และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ.2544 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ การดำเนินงานโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไว้ 5 ประการ คือ
1.สร้างงาน สร้างรายได้ แก่ชุมชน
2.สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนให้สามารถคิดเอง ทำเอง ในการพัฒนาท้องถิ่น
3.ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
4.ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
5.ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมในท้องถิ่น

โครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2547 หรือ OTOP Product Champion ( OPC )
การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย เป็นกระบวนการส่งเสริมสินค้า OTOP ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมากในปี 2547 โดยเป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง จากการลงทะเบียนผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งก็มีทั้งOTOP ชุมชน และ SMEs และการจัดการฝึกอบรม SMART OTOP ให้แก่ OTOP ชุมชน จำนวน 26,600 คน เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์
ในการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2547 มีผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่ม สมัครลงทะเบียนเข้ารับการคัดสรรในระดับอำเภอ มากกว่า 27,000 ราย โดยมีการคัดสรรในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด( CLUSTER) และประเทศ
ผลการคัดสรรระดับประเทศมีผลิตภัณฑ์ได้รับคะแนนในระดับ 5 ดาว ( OPC ระดับ 5 ดาว ) จำนวนทั้งสิ้น 573 ผลิตภัณฑ์ การนำเสนอข้อมูล OPC 5 ดาวในส่วนนี้ จึงเป็นการสร้างโอกาสและขยายผลในด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่ายของ OPC ระดับ 5 ดาวให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป
กรมการพัฒนาชุมชน เดินหน้ายกเครื่องการบริหารโครงการโอทอป เร่งสร้างศูนย์แสดงสินค้า 9 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ 7 จว.ชายแดน ควบศูนย์กลางท่องเที่ยวอย่างกรุงเทพฯ-ภูเก็ต หนุนสินค้าโอทอปขายได้ทั้งปี และยังเป็นคลังสินค้า ระบุนำร่อง 2 แห่งภายในสิ้นปีนี้ และครบถ้วนภายในปีหน้า ตั้งเป้าดันยอดขายทะลุ 1 แสนล้าน

นายสุรชัย ขันอาสา อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบาย โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโอทอป ประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการ การตลาด จึงจำเป็นต้องใช้การวิจัยและพัฒนา (R&D) มาช่วยพัฒนาโครงการโอทอปทั้งระบบ โดยกรมฯ มีนโยบาย 7 x 2 คือ การกำหนดพื้นที่หลักเพื่อเป็นจุดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป

ทั้งนี้ 7 หมายถึง พื้นที่จังหวัดที่อยู่แนวเขตชายแดน เช่น สระแก้ว หนองคาย ฯลฯ เพื่อรองรับผู้บริโภค จากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ส่วน 2 หมายถึง พื้นที่หลักที่เป็นย่านธุรกิจการท่องเที่ยว คือ กรุงเทพมหานคร และ ภูเก็ต โดยการกำหนดพื้นที่ดังกล่าว ทำเป็นศูนย์กระจายสินค้า จะช่วยให้สินค้าโอทอปจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี เพราะที่ผ่านมาผู้ที่สนใจจะมีโอกาสได้ซื้อสินค้าในช่วงงาน OTOP City และ OTOP Midyear เท่านั้น

นายสุรชัย ระบุด้วยว่า ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จุดแรกใน 2 พื้นที่หลัก ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ปีนี้ (2554) ส่วนที่เหลือทั้งหมด จะเสร็จภายในปีหน้า (2555) ซึ่งภายในศูนย์ฯ ทั้ง 9 แห่ง ไม่ได้มีเพียงมีการแสดงและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนาโอทอปทั้งระบบ และเป็นจุดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์โอทอปอีกด้วย

อีกทั้ง หลังจากการจัดงานโอทอปในส่วนกลาง เมื่อจัดงานเสร็จผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปที่เหลือก็จะถูกนำไปไว้ในศูนย์ฯต่างๆ โดยที่ผ่านมา หลังเลิกงานฯ จะต้องขนผลิตภัณฑ์กลับ หรือไม่ก็ขายลดราคา ทำให้ขาดโอกาสทางการตลาดและรายได้ โดยจะจัดให้เหมือนกับศูนย์ส่งออกย่านรัชดา คือ เน้นสินค้าตามช่วงเทศกาล หมุนเวียนกันไป เปรียบเสมือนเป็นคลัง stock สินค้า ที่มีมากกว่า 8,๐๐๐ ผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ แต่ละหมู่บ้าน ตำบล จะมีการพัฒนา Product ของตนเองให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ทั้งเครือข่ายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการประกวด การพัฒนาต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดาว ปีละ2 ครั้ง เพื่อยกระดับสินค้าตนเองและสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการส่งออกไปต่างประเทศ ทางกรมฯ ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนการพัฒนาคุณภาพการผลิต นอกจากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ให้การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อยกระดับให้เป็น SMEs

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา โครงการโอทอปสามารถสร้างยอดจำหน่ายได้มากถึง 6 หมื่นล้านบาท โดยภายในปี 2555 ตั้งเป้าไว้ว่าจะมียอดจำหน่ายให้ได้ถึง 1 แสนล้านบาท จากสินค้ากว่า 8 หมื่นชนิดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

กลุ่มที่ 4 นโยบายสาธารณะ ประเด็น การพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก


กรมอนามัยสำรวจพบพัฒนาการเด็กเล็กลดลง
กรมอนามัยเผยผลสำรวจล่าสุดพบ ภาพรวมพัฒนาการเด็กเล็กลดลงจากปี 47 และปี 41 สาเหตุเกิดจากผู้เลี้ยงขาดความรู้ส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้อง พร้อมจับมือ อปค.ยกระดับศูนย์เด็กเล็กในท้องถิ่นเป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ปกครอง แก้ปัญหาศูนย์เด็กเล็กไม่เพียงพอ หลังพบมีเด็กเล็กเพียงร้อยละ 15 จาก 7 ล้านคนทั่วประเทศที่เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้าน อปค.หนุนเตรียทำความเข้าใจผู้บริหารท้องถิ่นให้ความสำคัญพัฒนาเด็กปฐมวัย
         
ในการประชุมรับวันเด็กแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพเด็กไทยแบบองค์รวมจัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากโครงสร้างประชากรปัจจุบัน มีจำนวนสัดส่วนเป็นเด็กปฐมวัยประมาณ 6-7 ล้านคน โดยในกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนเพียง 7-8% เท่านั้น ที่เหลือเป็นเด็กในกลุ่มเด็กเล็ก ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเพิ่มก้าวหน้าในแต่ละปี ซึ่งในปี 2563 มีการทำนายว่า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 14-15% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มวัย ซึ่งเมื่อรวมประชากรทั้ง 2 กลุ่มแล้ว นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะมีประชากรที่ต้องได้รับการดูแลถึง 45% โดยพึ่งพิงประชากร 55% ที่เหลือ ดังนั้นหากเราเตรียมความพร้อมและพัฒนาการเด็กประถมไม่ดีพอซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกพึ่งพิงในช่วงเวลาดังกล่าวจะเกิดปัญหาขึ้น จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จากผลสรุปการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 3 ในปี 2550 ซึ่งเป็นการศึกษาเก็บข้อมูลในปี 2549 ในเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี และอายุ 4-5 ปี จำนวน 1,558 รายจากทั่วประเทศ พบว่า การพัฒนาการรวมปกติ ที่ประเมินภาพรวมจากการพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ การใช้กล้ามเนื้อขนาดใหญ่ การใช้กล้ามเนื้อขนาดเล็ก การใช้ภาษา และการพัฒนาช่วยตนเองในการอยู่ในสังคม อยู่ที่ 67.7% ลดลงจากปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ 72% ขณะที่ปี 2541 อยู่ที่ 71% อย่างไรก็ตามเมื่อดูการพัฒนาเฉพาะด้าน พบว่ามีการพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการใช้กล้ามเนื้อขนาดใหญ่และเล็ก แต่ในส่วนของการใช้ภาและการพัฒนาการช่วยตนเองมีค่าตัวเลขลดลง แสดงว่าไม่มีการฝึกและให้ความสำคัญเท่าที่ควร
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อดูการพัฒนาการภาพรวมที่ลดลงนั้น จึงมีการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น จำเป็นต้องดูถึงการเลี้ยงดู ซึ่งพบว่า ปัจจุบันมีเด็กปฐมวัยเพียงแค่ 15% จากจำนวนเด็กทั้งหมด 7 ล้านคนเท่านั้น ที่เข้ารับการพัฒนาที่ศูนย์เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาที่ถูกวิธีจากผู้ผ่านการอบรมเลี้ยงดูเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเรียน โดยเด็กส่วนใหญ่ได้รับการเลี้ยงดูจากปู่ ย่า ตา ยาย และผู้ปกครอง ดังนั้นจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันยกระดับการเลี้ยงดูเด็กกลุ่มนี้
ขณะนี้ ทาง อปค. มีโครงการยกระดับคุณภาพคนเลี้ยงดู โดยให้ทุนท้องถิ่นจำนวนกว่า 14,000 ทุน เพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กจำนวน 17,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กภายในชุมชน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีนโยบายในการผลักดันให้ศูนย์เด็กเล็กภายในท้องถิ่น เป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนโดยเป็นสถานที่สร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองที่เลี้ยงเด็กเองที่บ้าน นำไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลานตนเอง ถือเป็นการต่อยอดและขยายการสร้างคุณภาพผู้เลี้ยงเด็ก ซึ่งต้องร่วมมือทั้ง สถานีอนามัย โรงเรียน ซึ่ง อปค.ให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้ เพราะการพัฒนาเด็กเล็กตั้งแต่ 3-5 ขวบ ถือเป็นเรื่องใหญ่
ในประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้คนเลี้ยงดูเด็กช่วงปฐมวัยต้องเป็นบุคลากรมีคุณภาพ มีความรู้ในการพัฒนาเด็กให้มีความสามารถ เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเรียนอย่างมีคุณภาพ เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้มีการเลี้ยงแบบตามเดิมได้แล้ว โดยต้องบูรณาการให้เด็กเกิดความพร้อมทั้ง 4 ด้าน ซึ่งผู้ปกครองที่เลี้ยงเด็กเองอาจไม่มีความรู้ในการพัฒนาเด็กเพียงพอ ทั้งการใช้ภาษา การช่วยตัวเอง แต่หากเราทำศูนย์กลางการเรียนรู้จะเป็นการขยายการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ที่เป็นการฝึกจิตนากรที่ดี
ด้าน นายสมพร ใช้บางยาง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า บทบาทในการดูแลเด็กนั้น ไม่ใช่แค่หน้าที่ของสาธารณสุขเท่านั้น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปค.) ในฐานะหน่วยงานที่รับการถ่ายโอนงาน จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางรากฐาน ตั้งแต่การดูแลในช่วงตั้งครรภ์จนถึงการเติบโตจนเต็มวัย โดยเฉพาะในช่วงประถมวัยเพราะในช่วย 3-6 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กมีการพัฒนาการมากที่สุด ทั้งทางร่างกายและสมอง จำเป็น อปค.ต้องเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญ ดังนั้นตนจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในท้องถิ่น ซึ่งจะมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ถ่ายโอนมา 17,000 แห่ง โดยมีเด็กเล็กที่อยู่ในการดูแลกว่า 800,000 คน
ต้องยอมรับว่า เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลมากที่สุด แต่กลับเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด ขาดการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการอย่างเต็มที่ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อให้ความสำคัญวางพื้นฐานพัฒนาคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยผู้ดูแลเด็กเล็กนั้นอย่างน้อยต้องจบปริญญาตรี และควรมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังพี่เลี้ยงในระบบราชการ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีขวัญกำลังใจในการทำงานสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ทั้งนี้ในอนาคตเด็กเล็ก 4-5 ล้านคน จะต้องเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ดี เพราะไม่มีการพัฒนาการอะไรที่ดีกว่าการพัฒนาคนนายสมพร กล่าว
ที่มา
เด็กและเยาวชน เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดและเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต การพัฒนาประเทศจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับประชากรเด็ก โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และสติปัญญา เพื่อความพร้อมของการเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลภาวะโภชนาการที่ดีต่อพัฒนาการของเด็ก เมื่อครั้งเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 17 กันยายน 2527 ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในชนบทห่างไกลทุรกันดาร พบว่า มีเด็กเล็กในชนบทเป็นจำนวนมากที่ด้อยโอกาสในการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องและมีภาวะโภชนาการที่ดี จึงมีพระราชปรารภว่า สุขภาพอนามัยของประชาชนในหมู่บ้านควรจะได้รับกาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต การขาดสารอาหารในวัยดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อสติปัญญาของเด็กโดยตรง และเมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2527 พระราชทานพระราชดำรัส ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน บ้านเขาตันหยง ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ขึ้นเป็นแห่งแรก พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 330,000 บาท ตั้งเป็นกองทุน และได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เปิดรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 2.5-5 ปี เข้ามารับการเลี้ยงดู เพื่อให้มีพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมตามวัย ต่อมา พระราชทานพระราชดำริให้เปิดดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกหลายแห่งที่อำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอสุคิริน อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส จำนวน 16 ศูนย์ และที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อีก 1 ศูนย์ รวมทั้งหมด 17 ศูนย์
รมช.สธ.เผย ศูนย์เด็กเล็กเป็นแหล่งของโรคติดต่อในเด็ก ทั้งไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พร้อมทำคู่มือประเมินโดยใช้มาตรฐาน 3 ดี เชื่อสามารถทำให้ศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่ 20,000 แห่งทั่วประเทศเป็นเขตปลอดโรคได้ภายในปี 2556

ดร.พรรณสิริ กลุนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มีประมาณ 20,000 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมากให้เป็นเขตปลอดโรคติดต่อภายในปี 2556 ปัจจุบันทั่วประเทศมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 700,000 คน ที่ถูกฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็ก โรคที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ ได้แก่ ไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หากมีการเจ็บป่วยในศูนย์เด็กเล็ก จะสามารถแพร่เชื้อโรคติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว จึงมีโอกาสป่วยบ่อย และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพโดยรวมของเด็กในปี 2554 นี้ ตั้งเป้าพัฒนา 6,000 แห่ง

ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กดังกล่าว จะให้กรมควบคุมโรคต่อยอดจากโครงการศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ของกรมอนามัย ที่เน้นเรื่องการเลี้ยงดูให้เด็กมีความสมบูรณ์ทางกาย จิต สังคม และสติปัญญา สภาพแวดล้อมสะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม โดยเชื่อมโยงเรื่องการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ให้เป็นศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจาย และลดการป่วยของเด็ก ทั้งนี้ จากการประเมินการเจ็บป่วยของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบว่า เด็กในเขตเมืองจะป่วยเป็นหวัดเฉลี่ยคนละ 5-8 ครั้งต่อปี เด็กในเขตชนบทจะป่วยน้อยกว่าเฉลี่ยคนละ 3-5 ครั้งต่อปี ส่วนโรคมือเท้าปาก ในปี 2553 มีเด็กป่วย 11,075 ราย หรือร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มี 12364 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พบเด็กป่วย 377,022 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ป่วยที่มีทุกอายุ 1,335,794 ราย

ด้านนายแพทย์ มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้นำร่องศึกษาพัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจำนวน 18 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี โดยอบรมให้ความรู้ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค พบว่า ได้ผลดี แนวโน้มอัตราป่วยโรคหวัดในเด็ก ลดลงจาก 25 ครั้ง เหลือ 6 ครั้งต่อเด็ก 100 คน ส่วนโรคมือ เท้า ปาก ไม่มีการระบาดในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลเลย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีอัตราป่วยลดลง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้เป็นเขตปลอดโรค กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือการประเมินศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์และมาตรฐาน 3 ดี ได้แก่ 1.ครูมีสุขภาพดีและความรู้ดี 2.การบริหารจัดการดี 3.สภาพแวดล้อมดี โดยมีแนวทางปฏิบัติ 10 มาตรการสู่ศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค ได้แก่ 1.ครูผู้ดูแลทุกคน ต้องได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2.มีการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนเด็กทุกราย 3.มีการตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคน ทุกวัน 4.มาตรการเบื้องต้นในแยกเด็กป่วย เพื่อป้องกันควบคุมโรค ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การทำความสะอาด และการทำลายเชื้ออย่างถูกต้อง 5.ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเอ็กซเรย์ปอดอย่างน้อยละทุก 1-2 ปี 6.ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ หากเจ็บป่วย ควรหยุดอยู่บ้านจนกว่าจะหาย 7.ครูผู้ดูแลเด็ก สอนให้ความรู้เด็กในการป้องกันควบคุมโรคสัปดาห์ละ1ครั้ง 8.ครูผู้ดูแลเด็ก จัดให้มีกิจกรรมการล้างมือทุกวัน 9.ครูผู้ดูแลเด็ก ดูแลเด็กป่วยเบื้องต้นและส่งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 10.ครูผู้ดูแลเด็กจัดกิจกรรมให้เจ้าหน้าทีสาธารณสุขให้ความรู้ผู้ปกครอง เรื่องโรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคมือเท้าปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

กลุ่มที่ 3 นโยบายสาธารณะ หลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ



กลุ่มที่ 3 แผนนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับงานผู้สูงอายุ
แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 - 2564)
เหตุผลของการจัดทำแผน

ในปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุและสัดส่วนผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ทำให้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า "ภาวะประชากรผู้สูงอายุ (population ageing)" อันจะมีผลต่อสภาพทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

การกำหนดแผนระยะยาวที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมสำหรับการเปลี่ยนและพัฒนา จึงเป็นที่ตระหนักทั้งของรัฐและประชาคมต่าง ๆ ว่ามีความสำคัญในลำดับต้น ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาวิจัยต่อเนื่องการติดตามประเมินผล การปรับปรุงแผนระยะยาวด้านผู้สูงอายุเป็นระยะ ๆ ก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกันนอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้ระบุในมาตรา 54 และมาตรา 80 ถึงภารกิจที่จะต้องมีต่อประชากรสูงอายุ และปี พ.ศ.2542 ได้มีการจัดทำปฏิญญาผู้สูงอายุไทยขึ้นอันเป็นภารกิจที่สังคม และรัฐพึงมีต่อผู้สูงอายุ โดยมีสาระสำคัญ 9 ประการ ซึ่งจากเหตุผลข้างต้นเป็นไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายแห่ง ความมั่นคงของสังคม
แนวคิดพื้นฐานของการจัดทำแผน
ปรัชญา
-
การสร้างหลักประกันในวัยสูงอายุเป็นกระบวนการสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม
-
ผู้สูงอายุมีคุณค่าและศักยภาพ สมควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีส่วนร่วมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม
-
ผู้สูงอายุมีศักดิ์ศรีและสมควรดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนของตนได้อย่างมีคุณภาพ ที่สมเหตุสมผล และสมวัย
-
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ใช่บุคคลด้อยโอกาสหรือเป็นภาระต่อสังคมและถึงแม้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งจะประสบความทุกข์ยาก และต้องการการเกื้อกูลจากสังคมและรัฐ แต่ก็เป็นเพียงบางช่วงเวลาของวัยสูงอายุเท่านั้น

วิสัยทัศน์
"ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม" โดย
- ประชากรผู้สูงอายุที่มีสถานภาพดี (สุขภาพดีทั้งกายและจิต ครอบครัวอบอุ่นมีสังคมที่ดี มีหลักประกันที่มั่นคง ได้รับสวัสดิการและการบริการที่เหมาะสมอยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ มีส่วนร่วม มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารอย่างต่อเนื่อง)
- ผู้สูงอายุที่ทุกข์ยากและต้องการการเกื้อกูล หากมีการดำเนินการที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำรงอยู่ในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง
- ครอบครัวและชุมชนเป็นสถาบันหลักในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ
- ระบบสวัสดิการและบริการจะต้องสามารถรองรับผู้สูงอายุให้สามารถดำรงอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ
- รัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบบริการ
วัตถุประสงค์
-เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงผู้สูงอายุในฐานะบุคคลที่มีประโยชน์ต่อสังคม
-เพื่อให้ประชากรทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการและมีการเตรียมการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
-เพื่อให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตและมีหลักประกัน
-เพื่อให้ประชาชน ครอบครัว ชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในภารกิจด้านผู้สูงอายุ
-เพื่อให้มีกรอบและแนวทางปฏิบัติสำหรับส่วนต่าง ๆ ในสังคมทั้งภาคประชาชนชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชนที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุได้ปฏิบัติงานอย่างประสานและสอดคล้องกัน
ยุทธศาสตร์ของแผน
แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 - 2564) จัดแบ่งเป็น 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.ยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก
1.1 มาตรการหลักประกันด้านรายได้เพื่อวัยสูงอายุ
1.2 มาตรการการให้การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
1.3 มาตรการการปลุกจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ
2.ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก
2.1มาตรการส่งเสริมความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ดูแลตนเองเบื้องต้น
2.2มาตรการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ
2.3มาตรการส่งเสริมด้านการทำงานและการหารายได้ของผู้สูงอายุ
2.4มาตรการสนับสนุนผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ
2.5มาตรการส่งเสริม สนับสนุนสื่อทุกประเภทให้มีรายการเพื่อผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้ และสามารถเข้าถึงข่าวสารและสื่อ
2.6มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย
3.ยุทธศาสตร์ด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก
3.1มาตรการคุ้มครองด้านรายได้
3.2มาตรการหลักประกันด้านคุณภาพ
3.3มาตรการด้านครอบครัว ผู้ดูแล และการคุ้มครอง
3.4มาตรการระบบบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน
4.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติและการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก
4.1มาตรการการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติ
4.2มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ
5.ยุทธศาสตร์ด้านการประมวลและพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุและการติดตามประเมินผลการดำเนินการ ตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก
5.1มาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานวิจัยดำเนินการประมวล และพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุที่จำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบาย และการพัฒนาการบริการหรือการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ
5.2มาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่เป็น ประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย การพัฒนาการบริการและการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเหมาะสม
5.3มาตรการดำเนินการให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติที่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
5.4มาตรการพัฒนาระบบข้อมูลทางด้านผู้สูงอายุให้เป็นระบบและทันสมัย
ดัชนีรวมของยุทธศาสตร์ พิจารณาจากดัชนีต่อไปนี้
1. อายุคาดหวังที่ยังดูแลตนเองได้ เป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. สัดส่วนอายุคาดหวังที่ยังดูแลตนเองได้ต่ออายุคาดหวัง เป้าหมายมีสัดส่วนไม่ลดลง
3. ดัชนีคุณภาพภาวะประชากรสูงอายุ พิจารณาจากผลรวมของดัชนีรายมาตรการที่คัดเลือกจำนวน 12 ดัชนี เป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อจำกัดและเงื่อนไขจำเป็นของแผนและการดำเนินการตามแผน
ข้อจำกัด
·       ดัชนีจำนวนหนึ่งที่ได้กำหนดเพื่อใช้ในการติดตามประเมินความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนไม่เคยได้รับการศึกษาวิจัยมาก่อน มีความลำบากในการกำหนดเป้าหมาย เนื่องจากขาดตัวเลขชั้นต้นในการประกอบการพิจารณา
·       ระดับการดำเนินการ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และเอกชน ยากที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจน
·       ภาวะมั่นคงทางการเมืองและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ในแผนฉบับนี้
หน่วยงานกลาง คือ สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติ (กสผ.) ซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) กองสวัสดิการสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น ความเป็นเอกภาพและการดำเนินการตามภารกิจอย่างต่อเนื่องอาจจะไม่เข้มแข็งเพียงพอ
เงื่อนไขจำเป็น
·       ต้องดำเนินการให้มีการกำหนดนิยามและเกณฑ์ ตลอดจนกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม
·       คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานผู้สูงอายุแห่งชาติจะต้องดำเนินการให้เกิดการประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9, 10, 11 และ 12 สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุระยะยาว
·       แผนระยะยาวฉบับนี้จะต้องได้รับการพิจารณาและปรับปรุงเป็นระยะ ๆ ไม่เกินทุก 5 ปี เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์

ครม.เห็นชอบเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ดีเดย์ปีงบประมาณหน้า

วันที่18ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ประชุมว่า ครม.มีมติเรื่องการกำหนดอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดอัตราเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท อายุ 80-59 ปี ได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไปจะได้รับ 1,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นไป และใช้วงเงินงบประมาณการงบรายจ่ายประจำปี 2555 งบเงินอุดหนุน แผนงานสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 52,228,143,600 บาท (เพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 16,219,821,600 บาท)
นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบการจัดทำคำของบประมาณแบบบูรณาการโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2555 วงเงิน 101 ล้านบาทตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้สำนักงบประมาณเพิ่มเติมโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในแผนงานบูรณาการงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ภายใต้หน่วยงานที่รับผิดชอบ 10 กระทรวง 15 หน่วยงานระดับกรม

กลุ่มที่ 2 นโยบายสาธารณะ หลักประกันสุขภาพทั่วหน้า( 30 บาทรักษาทุกโรค)


โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
เป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรคไทยรักไทยเมื่อกลางปี2543 เป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติจากการลดอัตราเงินบาท นโยบายนี้จึงได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะจะให้มีการประกันสุขภาพกันถ้วนหน้า ดังนั้นในปี 2544 พรรคไทยรักไทยจึงชนะการเลือกตั้ง
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ใช่เป็นความคิดใหม่หรือแหวกแนวจากระบบประกันสุขภาพอื่นๆ แต่พรรคไทยรักไทยได้เลียนแบบหลักการและรายละเอียดต่างๆจากระบบ Capitation ของสหรัฐฯ ซึ่งเขาจะใช้กับแพทย์ Primary care เท่านั้น แต่ของประเทศไทยใช้กับร.พ.ในสังกัด คือรวมค่ารักษาทั้งหมด จ่ายให้ร.พ.ในสังกัดเป็นรายบุคคลต่อปีโดยจ่ายให้เท่ากันหมด ไม่ได้คำนึงถึงอายุผู้ป่วย งบประมาณของแต่ละโรงพยาบาล และอัตราครองชีพของแต่ละท้องถิ่นซึ่งต่างกัน
เมื่อคราวที่ท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมานิวยอร์ก เมื่อเดือนธันวาคม 2546 ได้กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนทุกคนมีประกันสุขภาพ ผมอยากคัดค้านแต่โอกาสไม่อำนวย ที่จริงแล้วกลุ่มประเทศระบบสังคมนิยม ยุโรปตะวันตก และกลุ่มประเทศสะแคนดิเนเวีย ประชาชนทุกคนมีประกันสุขภาพและไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ เป็นระบบที่รัฐบาลจ่ายให้ทุกคน (Single Payer system)
หลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 ระบบคือ
1.       ระบบประกันสังคม ที่มีมานานแล้ว รัฐบาลจะรับผิดชอบทั้งหมดให้กับผู้ป่วยที่ยากจนทุพพลภาพ รวมถึงเวชภัณฑ์ด้วย ระบบนี้เหมือนกับ Medicaid ในสหรัฐฯ
2.       ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ เป็นระบบที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะรัฐบาลจ่ายค่ารักษาให้ทุกบาททุกสตางค์ และถ้าใช้บริการ.พ.เอกชนก็สามารถ เบิกคืนได้ถึง 80% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ระบบนี้ยังครอบคลุมไปถึงบิดา มารดา สามี ภรรยาและบุตรทุกคน ข้าราชการที่เกษียณก็ได้ผลประโยชน์จากระบบนี้ด้วย
3.       ระบบประกันสุขภาพซึ่งบริษัทหรือผู้ป่วยเสียเงินโดยตรง ระบบนี้มีผู้ใช้บริการน้อยมากเพราะเบี้ยประกันแพงยกเว้นพวกบริษัทต่างประเทศที่มีพนักงานทำงานในประเทศไทย ซึ่งผู้ป่วยประเภทนี้มักเข้าร.พ.เอกชน
4.       พรรคไทยรักไทย ตระหนักดีว่าประชาชนคนไทย 71-72 ล้านคน ไม่มีประกันสุขภาพประมาณ 46-47 ล้านคน ดังนั้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรครัฐบาล นโยบายนี้ผู้เขียนเห็นว่าดีเยี่ยม แต่ในเชิงปฏิบัติและงบประมาณจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงบุคลากร แพทย์ พยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะปฏิบัติหรือไม่
งบประมาณและการแบ่งแยกส่วนการบริการ รัฐบาลได้จัดงบประมาณขั้นต่ำสุดที่จำเป็น
สำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่ากับ 1,202.40 บาทต่อประชากรต่อปีต่อคน เท่าที่ทราบงบประมาณก้อนนี้ได้จากกระทรวงสาธารณสุข ในเชิงปฏิบัติการใช้ระบบเหมา(Capitation)โดยนับหัวประชาชนในท้องถิ่นกับร.พ.ที่ใกล้ที่อยู่อาศัยนั้นไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งต่อประชาชนและโรงพยาบาล ร.พ.ประจำจังหวัดขนาดใหญ่ ร.พ.มหาวิทยาลัย จะเสียเปรียบมาก เพราะร.พ.เหล่านี้ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นปัญหางบประมาณจึงเป็นปัญหาใหญ่ เพราะไม่เคยมีสถิติการรักษาแบบ Capitation ในประเทศไทยมาก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผอ.ร.พ.นครพนม ร.พ.มุกดาหาร ขณะไปสำรวจร.พ.เพื่อที่จะให้หน่วยแพทย์อาสาสมัครสมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐฯ ไปออกหน่วยในปี 2549 ท่านทั้ง 2 ได้ให้ความเห็นตรงกันคือ ต้องตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงบุคลากร เพื่อความอยู่รอดของร.พ. โครงการ 30 บาทได้เริ่มจริงจังในปี 2545 ผู้ป่วยจึงได้มาใช้บริการที่ร.พเป็นจำนวนมาก. ทำให้รับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นและ ร.พ.ต้นสังกัดจะให้การบริการน้อยในด้านวิเคราะห์โรค เช่น การตรวจเลือด x-ray CT scan, MRI และอื่นๆ เพราะค่าใช้จ่ายสูงและร.พ.ไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ”The less you do the more money you have” ซึ่งขัดกับความจริงในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยควรจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการรักษาที่ถูกต้องมากที่สุด ไม่ใช่นักการเมืองหรือนักบริหาร ที่คอยจะกอบโกยท่าเดียว นักการเมืองบางคนได้ซื้อร.พ.เอกชนในกรุงเทพฯ 2-3 แห่ง โดยใช้ชื่อของเพื่อนบ้าง ญาติสนิทบ้างดำเนินกิจการเสียเอง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ไม่มีเวลารอคิวจะหันไปใช้บริการร.พ.เอกชน โดยไม่ใช้สิทธิ 30 บาท จะเห็นได้ว่าร.พ.เอกชนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดได้ผลกำไรจากการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น
โครงการ 30 บาท รักษาได้ทุกโรคจริงหรือไม่ ????
          ในช่วงหาเสียงของพรรคไทยรักไทยไม่มีรายละเอียดบริการการรักษา แต่ปรากฏว่ามีข้อยกเว้นในการใช้สิทธิหลายกรณีด้วยกัน
1.       กลุ่มที่ปัจจุบันมีงบประมาณจัดสรรให้เป็นการเฉพาะ
·       โรคจิตซึ่งรับการรักษาเป็นผู้ป่วยภายในเกินกว่า 15 วัน
·       การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพย์ติด
·       ผู้ประสพภัยจากรถ ซึ่งสามารถใช้สิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถ
2.       กลุ่มที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน
·       การรักษาภาวะที่มีบุตรยาก
·       การผสมเทียม
·       การเปลี่ยนเพศ
·       ศัลยกรรมตกแต่ง โดยไม่มีข้อชี้บ่งทางการแพทย์
3.       กลุ่มอื่นๆ (การรักษาที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง)
·       โรคเดียวกัน ที่ต้องใช้ระยะเวลาการรักษาผู้ป่วยนานเกิน 180 วัน
·       การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง( Experimental Treatment)
·       การรักษาผู้ป่วยไตวาย เรื้อรังระยะสุดท้าย ด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม( Peritonial & Hemodialysis)
·       ยาต้านไวรัสเอดส์( AIDS) ยกเว้นการป้องกันการแพร่กระจายจากแม่สู่ลูก
·       การตั้งครรภ์และคลอดบุตรเกิน 2 คน (ถ้ามีชีวิตอยู่ทั้ง 2 คน)
·       การเปลี่ยนอวัยวะ เช่น ไต ตับ และหัวใจรวมถึงไขกระดูก
สรุปข้อคิดเห็นจากผู้เขียน
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายและโครงการที่ดี แต่มาประยุกต์กับระบบการแพทย์ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุข มีความแตกต่างกันมาก ขึ้นกับพื้นที่ภูมิภาคของแต่ละส่วนในประเทศไทย งบประมาณ1,204.40 บาท ต่อปีต่อคนทั่วประเทศไทย ไม่ยุติธรรมในด้านงบประมาณ ร.พ, ศูนย์ และ ร.พ.มหาวิทยาลัยจะขาดความก้าวหน้าในด้านวิชาการ การรักษา Technology ใหม่ๆ ที่จะมาใช้ในการบำบัดรักษาให้ได้ผลดีที่สุด ดังพระอนุสาสน์ของสมเด็จพระบรมราชชนกขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ไม่จ่ายค่ารักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้เขียนคิดว่าเป็นการผิดมนุษยธรรมอย่างยิ่ง และเป็นการแพร่กระจายของโรคเอดส์ในสังคมด้วย การฟอกไต การเปลี่ยนอวัยวะ ผู้ที่รับผลประโยชน์มากที่สุดคือข้าราชการ ซึ่งใช้เงินภาษีอากรจากคนไทยโดยตรง แต่ผู้เสียภาษีกลับไม่ได้รับสิทธิเรื่องนี้

ตั้งแต่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้นำออกมาปฏิบัติ จะเห็นได้ว่ามีความระส่ำระสายในกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ในระยะเวลา 4 ปี มีการเปลี่ยนปลัดกระทรวงถึง 4 ท่านเกษียณ 1 ท่าน ลาออก 1 ท่านถูกปลด 1 ท่านและแต่งตั้งใหม่ 1 ท่าน การเปลี่ยนปลัดกระทรวง 4 ท่านใน 4 ปี แสดงให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่รัฐมนตรี
การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง คราวนี้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ปลัดยังเป็นคนเดิม ทั้งรัฐมนตรีและปลัดเป็นแพทย์ทั้งสองท่าน ผู้เขียนขอฝากความหวังไว้กับท่านทั้งสองการรับใช้ประชาชนคนไทยให้มีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้บริการเพื่อสุขภาพและอนามัยเป็นกิจที่หนึ่งของท่าน
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมีงบประมาณในการป้องกันและควบคุมป้องกันโรค แต่ปรากฏว่าร.พ.ในต่างจังหวัดและอำเภอเกือบทุกแห่ง ไม่มีเครื่อง x-ray เต้านม( Mammography) Pap Smear เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะต้น และไม่มีพยาธิแพทย์ที่จะอ่านผล Colonoscopy วิเคราะห์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะต้น ในประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่มีอุปกรณ์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะใช้อุปกรณ์นี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้บริการประชาชนได้ทั่วถึงเพราะไม่มีงบประมาณพอ แต่รัฐบาลไทยมีงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ที่จะเช่าตึก เพื่อที่จะให้มีธงชาติไทยได้ขึ้นเสาบน 5th Aveในนิวยอร์ก !!
ท่านผู้อ่านครับท่านทราบหรือไม่ว่าเงิน 1,200 ล้านบาทนั้นสามารถที่จะซื้อเครื่องMammography ได้ถึง 60 เครื่อง ซึ่งสามารถแจกจ่ายให้ร.พ.ประจำจังหวัดได้เกือบทุกจังหวัด กระผมขอฝากข้อคิดให้กับรัฐบาลว่า คนไทยที่ยากจนยังมีอีกมาก อย่าเอาเงินภาษีอากรของเขามาใช้อย่างไร้สาระ เพื่อที่ท่านจะได้มีผลงานว่ารัฐบาลโดยการนำของท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร สามารถนำธงไทยมาปักที่ 5th Ave.นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กระผมทราบว่าพวกเราชาวไทยที่มาทำมาหากินที่สหรัฐฯไม่มีใครเห็นด้วย กระผมขอแสดงความยินดีต่อทุกท่านที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลไทยจะเอาเงินภาษีอากรของคนไทยมาทิ้งในสหรัฐฯ