วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลุ่มที่ 4 นโยบายสาธารณะ ประเด็น การพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก


กรมอนามัยสำรวจพบพัฒนาการเด็กเล็กลดลง
กรมอนามัยเผยผลสำรวจล่าสุดพบ ภาพรวมพัฒนาการเด็กเล็กลดลงจากปี 47 และปี 41 สาเหตุเกิดจากผู้เลี้ยงขาดความรู้ส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้อง พร้อมจับมือ อปค.ยกระดับศูนย์เด็กเล็กในท้องถิ่นเป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ปกครอง แก้ปัญหาศูนย์เด็กเล็กไม่เพียงพอ หลังพบมีเด็กเล็กเพียงร้อยละ 15 จาก 7 ล้านคนทั่วประเทศที่เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้าน อปค.หนุนเตรียทำความเข้าใจผู้บริหารท้องถิ่นให้ความสำคัญพัฒนาเด็กปฐมวัย
         
ในการประชุมรับวันเด็กแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพเด็กไทยแบบองค์รวมจัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากโครงสร้างประชากรปัจจุบัน มีจำนวนสัดส่วนเป็นเด็กปฐมวัยประมาณ 6-7 ล้านคน โดยในกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนเพียง 7-8% เท่านั้น ที่เหลือเป็นเด็กในกลุ่มเด็กเล็ก ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเพิ่มก้าวหน้าในแต่ละปี ซึ่งในปี 2563 มีการทำนายว่า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 14-15% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มวัย ซึ่งเมื่อรวมประชากรทั้ง 2 กลุ่มแล้ว นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะมีประชากรที่ต้องได้รับการดูแลถึง 45% โดยพึ่งพิงประชากร 55% ที่เหลือ ดังนั้นหากเราเตรียมความพร้อมและพัฒนาการเด็กประถมไม่ดีพอซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกพึ่งพิงในช่วงเวลาดังกล่าวจะเกิดปัญหาขึ้น จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จากผลสรุปการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 3 ในปี 2550 ซึ่งเป็นการศึกษาเก็บข้อมูลในปี 2549 ในเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี และอายุ 4-5 ปี จำนวน 1,558 รายจากทั่วประเทศ พบว่า การพัฒนาการรวมปกติ ที่ประเมินภาพรวมจากการพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ การใช้กล้ามเนื้อขนาดใหญ่ การใช้กล้ามเนื้อขนาดเล็ก การใช้ภาษา และการพัฒนาช่วยตนเองในการอยู่ในสังคม อยู่ที่ 67.7% ลดลงจากปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ 72% ขณะที่ปี 2541 อยู่ที่ 71% อย่างไรก็ตามเมื่อดูการพัฒนาเฉพาะด้าน พบว่ามีการพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการใช้กล้ามเนื้อขนาดใหญ่และเล็ก แต่ในส่วนของการใช้ภาและการพัฒนาการช่วยตนเองมีค่าตัวเลขลดลง แสดงว่าไม่มีการฝึกและให้ความสำคัญเท่าที่ควร
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อดูการพัฒนาการภาพรวมที่ลดลงนั้น จึงมีการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น จำเป็นต้องดูถึงการเลี้ยงดู ซึ่งพบว่า ปัจจุบันมีเด็กปฐมวัยเพียงแค่ 15% จากจำนวนเด็กทั้งหมด 7 ล้านคนเท่านั้น ที่เข้ารับการพัฒนาที่ศูนย์เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาที่ถูกวิธีจากผู้ผ่านการอบรมเลี้ยงดูเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเรียน โดยเด็กส่วนใหญ่ได้รับการเลี้ยงดูจากปู่ ย่า ตา ยาย และผู้ปกครอง ดังนั้นจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันยกระดับการเลี้ยงดูเด็กกลุ่มนี้
ขณะนี้ ทาง อปค. มีโครงการยกระดับคุณภาพคนเลี้ยงดู โดยให้ทุนท้องถิ่นจำนวนกว่า 14,000 ทุน เพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กจำนวน 17,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กภายในชุมชน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีนโยบายในการผลักดันให้ศูนย์เด็กเล็กภายในท้องถิ่น เป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนโดยเป็นสถานที่สร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองที่เลี้ยงเด็กเองที่บ้าน นำไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลานตนเอง ถือเป็นการต่อยอดและขยายการสร้างคุณภาพผู้เลี้ยงเด็ก ซึ่งต้องร่วมมือทั้ง สถานีอนามัย โรงเรียน ซึ่ง อปค.ให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้ เพราะการพัฒนาเด็กเล็กตั้งแต่ 3-5 ขวบ ถือเป็นเรื่องใหญ่
ในประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้คนเลี้ยงดูเด็กช่วงปฐมวัยต้องเป็นบุคลากรมีคุณภาพ มีความรู้ในการพัฒนาเด็กให้มีความสามารถ เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเรียนอย่างมีคุณภาพ เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้มีการเลี้ยงแบบตามเดิมได้แล้ว โดยต้องบูรณาการให้เด็กเกิดความพร้อมทั้ง 4 ด้าน ซึ่งผู้ปกครองที่เลี้ยงเด็กเองอาจไม่มีความรู้ในการพัฒนาเด็กเพียงพอ ทั้งการใช้ภาษา การช่วยตัวเอง แต่หากเราทำศูนย์กลางการเรียนรู้จะเป็นการขยายการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ที่เป็นการฝึกจิตนากรที่ดี
ด้าน นายสมพร ใช้บางยาง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า บทบาทในการดูแลเด็กนั้น ไม่ใช่แค่หน้าที่ของสาธารณสุขเท่านั้น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปค.) ในฐานะหน่วยงานที่รับการถ่ายโอนงาน จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางรากฐาน ตั้งแต่การดูแลในช่วงตั้งครรภ์จนถึงการเติบโตจนเต็มวัย โดยเฉพาะในช่วงประถมวัยเพราะในช่วย 3-6 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กมีการพัฒนาการมากที่สุด ทั้งทางร่างกายและสมอง จำเป็น อปค.ต้องเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญ ดังนั้นตนจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในท้องถิ่น ซึ่งจะมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ถ่ายโอนมา 17,000 แห่ง โดยมีเด็กเล็กที่อยู่ในการดูแลกว่า 800,000 คน
ต้องยอมรับว่า เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลมากที่สุด แต่กลับเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด ขาดการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการอย่างเต็มที่ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อให้ความสำคัญวางพื้นฐานพัฒนาคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยผู้ดูแลเด็กเล็กนั้นอย่างน้อยต้องจบปริญญาตรี และควรมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังพี่เลี้ยงในระบบราชการ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีขวัญกำลังใจในการทำงานสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ทั้งนี้ในอนาคตเด็กเล็ก 4-5 ล้านคน จะต้องเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ดี เพราะไม่มีการพัฒนาการอะไรที่ดีกว่าการพัฒนาคนนายสมพร กล่าว
ที่มา
เด็กและเยาวชน เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดและเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต การพัฒนาประเทศจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับประชากรเด็ก โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และสติปัญญา เพื่อความพร้อมของการเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลภาวะโภชนาการที่ดีต่อพัฒนาการของเด็ก เมื่อครั้งเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 17 กันยายน 2527 ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในชนบทห่างไกลทุรกันดาร พบว่า มีเด็กเล็กในชนบทเป็นจำนวนมากที่ด้อยโอกาสในการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องและมีภาวะโภชนาการที่ดี จึงมีพระราชปรารภว่า สุขภาพอนามัยของประชาชนในหมู่บ้านควรจะได้รับกาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต การขาดสารอาหารในวัยดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อสติปัญญาของเด็กโดยตรง และเมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2527 พระราชทานพระราชดำรัส ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน บ้านเขาตันหยง ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ขึ้นเป็นแห่งแรก พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 330,000 บาท ตั้งเป็นกองทุน และได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน เปิดรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 2.5-5 ปี เข้ามารับการเลี้ยงดู เพื่อให้มีพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมตามวัย ต่อมา พระราชทานพระราชดำริให้เปิดดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกหลายแห่งที่อำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอสุคิริน อำเภอรือเสาะ และอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส จำนวน 16 ศูนย์ และที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อีก 1 ศูนย์ รวมทั้งหมด 17 ศูนย์
รมช.สธ.เผย ศูนย์เด็กเล็กเป็นแหล่งของโรคติดต่อในเด็ก ทั้งไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พร้อมทำคู่มือประเมินโดยใช้มาตรฐาน 3 ดี เชื่อสามารถทำให้ศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่ 20,000 แห่งทั่วประเทศเป็นเขตปลอดโรคได้ภายในปี 2556

ดร.พรรณสิริ กลุนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มีประมาณ 20,000 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมากให้เป็นเขตปลอดโรคติดต่อภายในปี 2556 ปัจจุบันทั่วประเทศมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 700,000 คน ที่ถูกฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็ก โรคที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ ได้แก่ ไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หากมีการเจ็บป่วยในศูนย์เด็กเล็ก จะสามารถแพร่เชื้อโรคติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว จึงมีโอกาสป่วยบ่อย และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพโดยรวมของเด็กในปี 2554 นี้ ตั้งเป้าพัฒนา 6,000 แห่ง

ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กดังกล่าว จะให้กรมควบคุมโรคต่อยอดจากโครงการศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ของกรมอนามัย ที่เน้นเรื่องการเลี้ยงดูให้เด็กมีความสมบูรณ์ทางกาย จิต สังคม และสติปัญญา สภาพแวดล้อมสะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม โดยเชื่อมโยงเรื่องการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ให้เป็นศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจาย และลดการป่วยของเด็ก ทั้งนี้ จากการประเมินการเจ็บป่วยของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบว่า เด็กในเขตเมืองจะป่วยเป็นหวัดเฉลี่ยคนละ 5-8 ครั้งต่อปี เด็กในเขตชนบทจะป่วยน้อยกว่าเฉลี่ยคนละ 3-5 ครั้งต่อปี ส่วนโรคมือเท้าปาก ในปี 2553 มีเด็กป่วย 11,075 ราย หรือร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มี 12364 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พบเด็กป่วย 377,022 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ป่วยที่มีทุกอายุ 1,335,794 ราย

ด้านนายแพทย์ มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้นำร่องศึกษาพัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจำนวน 18 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี โดยอบรมให้ความรู้ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค พบว่า ได้ผลดี แนวโน้มอัตราป่วยโรคหวัดในเด็ก ลดลงจาก 25 ครั้ง เหลือ 6 ครั้งต่อเด็ก 100 คน ส่วนโรคมือ เท้า ปาก ไม่มีการระบาดในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลเลย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีอัตราป่วยลดลง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้เป็นเขตปลอดโรค กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือการประเมินศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์และมาตรฐาน 3 ดี ได้แก่ 1.ครูมีสุขภาพดีและความรู้ดี 2.การบริหารจัดการดี 3.สภาพแวดล้อมดี โดยมีแนวทางปฏิบัติ 10 มาตรการสู่ศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค ได้แก่ 1.ครูผู้ดูแลทุกคน ต้องได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2.มีการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนเด็กทุกราย 3.มีการตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคน ทุกวัน 4.มาตรการเบื้องต้นในแยกเด็กป่วย เพื่อป้องกันควบคุมโรค ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การทำความสะอาด และการทำลายเชื้ออย่างถูกต้อง 5.ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเอ็กซเรย์ปอดอย่างน้อยละทุก 1-2 ปี 6.ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ หากเจ็บป่วย ควรหยุดอยู่บ้านจนกว่าจะหาย 7.ครูผู้ดูแลเด็ก สอนให้ความรู้เด็กในการป้องกันควบคุมโรคสัปดาห์ละ1ครั้ง 8.ครูผู้ดูแลเด็ก จัดให้มีกิจกรรมการล้างมือทุกวัน 9.ครูผู้ดูแลเด็ก ดูแลเด็กป่วยเบื้องต้นและส่งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 10.ครูผู้ดูแลเด็กจัดกิจกรรมให้เจ้าหน้าทีสาธารณสุขให้ความรู้ผู้ปกครอง เรื่องโรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคมือเท้าปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น