คือตั้งครรภ์เมื่ออายุ 19 ปี หรืออ่อนกว่านี้ พบร้อยละ 10-30 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก
ใน 10 ปีมานี้ ท้องในวัยทีนในประเทศไทย มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
จากร้อยละ 10 ในปี พ.ศ.2536 เป็นกว่าร้อยละ 20 ในปัจจุบัน นอกจากนั้นอายุของแม่วัยทีนนับวันยิ่งน้อยลง ต่ำสุดพบเพียง 12 ปี ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แนวโน้มท้องในวัยทีนมีจำนวนลดลงตามลำดับ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการท้องในวัยทีน ได้แก่ ฐานะยากจน เล่าเรียนน้อย ดื่มสุรา ติดยาเสพติด ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ยาก ปัจจัยหนึ่งซึ่งน่าจะแก้ไขได้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ท้องวัยทีนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ ค่านิยมการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น
ทำไมวัยทีนไม่ควรท้อง?
นอกจากเหตุผลทางการแพทย์ เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อนช่วงตั้งครรภ์ คลอด หลังคลอดสูงกว่าคนทั่วไป (แท้ง ทารกพิการ น้ำหนักน้อย ขาดอาหาร ทารกตายในครรภ์ คลอดยาก ตกเลือดหลังคลอด ฯลฯ) เหตุผลทางด้านสังคม เศรษฐกิจ จิตวิทยา (มารดาต้องหยุดเรียน รายจ่ายสูง รายรับน้อย ครอบครัวยากจนยิ่งขึ้น มารดาเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทำแท้งเถื่อน ทารกถูกทอดทิ้ง ทารกไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทารกเติบโตมาเป็นปัญหาของสังคม ฯลฯ) ยังมีเหตุผลของปัจเจกบุคคล ส่งผลให้ท้องวัยทีนสร้างบาดแผลอันเจ็บปวดแห่งความทรงจำไม่รู้ลืม แก่ทั้งตัววัยทีนและผู้ปกครอง
ทำไมวัยทีนจึงท้อง?
ในวัยรุ่นที่สมัครใจมีเพศสัมพันธ์ พบเหตุผลใหญ่ๆ 2 ประการ คือ
1. มีเพศสัมพันธ์โดยไม่คุมกำเนิด บ้างไม่รู้ว่ามีเพศสัมพันธ์แล้วท้อง บ้างเชื่อโดยไม่มีเหตุผลว่าตนเองไม่ท้อง บ้างคุมกำเนิดไม่เป็น บ้างไม่สนใจคุมกำเนิด บ้างไม่สามารถเข้าถึงการบริการคุมกำเนิด บ้างกลัวการคุมกำเนิด ฯลฯ
2. มีความเชื่อที่ผิดๆ ในการคุมกำเนิดทั้งในวัยรุ่นหญิงชาย เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัยเพราะกลัวถูกว่าสำส่อน รับประทานยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด ทำให้เป็นฝ้า มดลูกแห้ง ฯลฯ
ทำไมวัยทีนส่วนหนึ่งจึงเลือกไม่มีเพศสัมพันธ์?
การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ
1. เป็นความตั้งใจของวัยทีนแต่ละบุคคล บ้างเชื่อมั่นในคุณค่าของพรหมจรรย์ บ้างเชื่อฟังคำสั่งสอนพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ อีกส่วนหนึ่งเป็นความเชื่อทางศาสนา
2. กลัวการตั้งครรภ์
3. กลัวโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
4. ฝ่ายชายไม่เร่งเร้า (วัยรุ่นหญิง 3 ใน 4 คนที่มีเพศสัมพันธ์ ให้เหตุผลว่าเพราะฝ่ายชายขอ)
ทำอย่างไรจึงป้องกันท้องในวัยทีน?...ผู้เขียนขอเสนอ 14 วิธีป้องกันท้องในวัยทีน ดังนี้
1. ประชาชนทุกคนต้องเห็นความสำคัญของการป้องกันท้องในวัยทีน โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองดีที่จะช่วยกันอบรมสั่งสอน (เท่าที่จะเป็นไปได้) สอดส่องดูแลความประพฤติของวัยรุ่น ช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งผู้ปกครอง สถานศึกษา ตำรวจ ฯลฯ เมื่อพบความเสี่ยง
2. สังคมต้องมีส่วนรับผิดชอบ เช่น ลดการยั่วยุทางกามารมณ์ ไม่ปากว่าตาขยิบกับวัยรุ่น ไม่ว่าในสถานบันเทิง การขายสุรา การมั่วสุมในที่ต่างๆ ฯลฯ
3. ครอบครัวต้องถือว่าเป็นหน้าที่หลักที่จะดูแลลูกหลานวัยรุ่นของตนเองอย่างใกล้ชิด ความรักและความใกล้ชิดทำให้ตรวจพบสิ่งผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก
4. พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจจิตวิทยาของวัยรุ่น ต้องพัฒนาตนเองให้ทันยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี การใช้ชีวิต ฯลฯ
5. หากมีลูกหลานเป็นชาย ควรสอนเขาตั้งแต่เด็ก ถึงความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ล่วงเกินเพศตรงข้าม หากยังไม่พร้อมและไม่สามารถรับผิดชอบเลี้ยงดู สร้างครอบครัวได้
6. สร้างค่านิยมไม่มีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น คนเก่งต้องรู้จักเซย์โน สนับสนุนการสร้างปณิธานให้รักษาพรหมจรรย์จนถึงวัยอันควร โดยใช้ความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว, หลักการทางศาสนา, จัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ฯลฯ
7. สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสนับสนุนองค์ความรู้ทางเพศศึกษา (รวมถึงการคุมกำเนิด) ที่ถูกต้อง ตั้งแต่ก่อนที่นักเรียนจะเข้าสู่วัยรุ่น
8. รัฐบาลต้องถือว่าการลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นนโยบายสำคัญ มีงบประมาณ กลยุทธ์ สนับสนุนองค์กรที่เกี่ยวข้อง และมีการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
9. สื่อต่างๆ ควรสนับสนุนบทเรียนและการเรียนรู้ทางเพศศึกษาที่ถูกต้อง โดยมีดารานักร้อง ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่วัยรุ่น
10. นักเขียน นักแสดง ผู้จัดละคร ภาพยนตร์ ควรเสนอบทเรียนของการตั้งท้องวัยทีนให้แพร่หลาย ในหลากรูปแบบงานวรรณกรรม บันเทิงคดี ฯลฯ
11. สถานพยาบาลควรมีคลีนิคให้คำปรึกษาวัยรุ่น ที่สามารถติดต่อปรึกษาได้ทุกเมื่อ
12. แพทย์พยาบาลผู้ให้บริการต้องไม่มีอคติต่อวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
13. มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยปรึกษาหาทางออกให้ เมื่อวัยรุ่นพลาดพลั้งตั้งครรภ์
14. ล้อมรั้วด้วยรัก อภัย เข้าใจ และเห็นใจ ทั้งจากคนในครอบครัว และคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจและให้กำลังใจ ทำให้วัยรุ่นที่เสียตัวไปแล้วไม่ตั้งครรภ์ ที่ตั้งครรภ์ไปแล้วก็จะไม่ท้องในวัยทีนซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง
บทนำเรื่อง
ในปัจจุบันสังคมของประเทศก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสารของโลกสมัยใหม่แพร่กระจายสู่สังคมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกได้ครอบงำวิถีชีวิตของวัยรุ่นไทยจำนวนไม่น้อยทั้งในด้านการรับประทานอาหารฟาสฟู๊ด การแต่งกาย การคบเพื่อนต่างเพศ สังคมของวัยรุ่นไทยกลายเป็นสังคมบริโภคที่แทบจะไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต แต่ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันมีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลกระทบที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชนไทย พฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นในปัจจุบันนี้ ออกนอกกรอบดั้งเดิมมากขึ้นทุกที เช่น การเลือกคู่ครอง จะถือเอา ความรัก เป็นสำคัญ ไม่ชอบการคลุมถุงชน การคบเพื่อนต่างเพศ เป็นไปอย่างอิสระเสรี เพราะเห็นว่า ไม่ใช่เรื่อง น่าละอาย หญิงสาวให้ความสำคัญในการครองตัว เป็นหญิงพรหมจรรย์ถึงวันแต่งงานน้อยลง ประกอบกับ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในเรืองเพศ ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น การมี เพศสัมพันธ์ ก่อนวัยอันควร การสำส่อนทางเพศ การเบี่ยงเบนทางเพศ เช่นการรักร่วมเพศ เป็นต้น และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และปัญหาการทำแท้ง
ปัญหาหลักของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
ปัญหาวัยรุ่น โดยเฉพาะในเรื่อง “ปัญหาพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมะสมของวัยรุ่น” กำลังจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เกิดขึ้นแทบไม่เว้นในแต่ละวัน ทั้งเรื่องเด็กผู้ชายรุมโทรมและข่มขืนเด็กผู้หญิง หรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรจนตั้งครรภ์ การทำแท้ง รวมถึงการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ อาทิ โรคเอดส์ ที่ขณะนี้ตัวเลขวัยรุ่นไทยติด “โรคร้าย” นี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย และที่เป็นข่าวเกรียวกราวบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ คือเรื่องการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมบนรถเมล์ การไปเช่าบ้านหรือโรงแรมเพื่อมีเพศสัมพันธ์กันของวัยรุ่น และที่ต้องตกตะลึงไม่น้อย ก็คือผลสำรวจที่ว่าคนไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุน้อยลง ถึงแม้ว่าข้อมูลของผลสำรวจนี้จะมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านและยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นก็กำลังเริ่มจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมแล้ว
พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมในกลุ่มวัยรุ่นของไทยนั้น เกิดจากในปัจจุบันเด็กวัยรุ่นไทยส่วนหนึ่งมองว่าการแสดงออกทางพฤติกรรมทางเพศถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เนื่องจากเด็กเหล่านี้ได้ซึมซับรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาจนลืมรักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทยที่ผู้ใหญ่จะสอนเด็กผู้หญิงไว้ว่าต้องรักนวลสงวนตัว
ทั้งนี้จากผลสำรวจของเอแบคโพล ถึงเรื่อง “ประสบการณ์และทรรศนะของวัยรุ่นต่อปัญหาพฤติกรรมทางเพศในปัจจุบัน” พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 61.7 % ยอมรับว่ามีประสบการด้านการมีแฟนและคนรัก และจำนวน 37.5 % เคยมีแฟนหรือคนรักมากกว่าหนึ่งคนและจำนวน 11.2 % มีแฟนหรือคนรักมากกว่า 4 คน
ส่วนผลสำรวจในประเด็นการยอมรับพฤติกรรมเชิงชู้สาวนั้นวัยรุ่นส่วนใหญ่ยอมรับพฤติกรรมการจับมือ ควงแขน และการโอบไหล่หรือเอวกับแฟน และจำนวนกว่า 52.9 % ให้การยอมรับการจับมือ และอีก 40.2% ยอมรับการควงแขนกับผู้ที่เพิ่งรู้จักตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ผับ เธค และห้างสรรพสินค้า
นอกจากนี้มีวัยรุ่นจำนวน 46.9% ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือคนรัก และจำนวน 13.9 % ยอมรับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เพิ่งรู้จักตามสถานที่ต่างๆ
สำหรับผลการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์นั้น วัยรุ่นจำนวน 42.4 % เคยมีประสบการณ์ด้านเพศสัมพันธ์ และกลุ่มตัวอย่างจำนวนถึง 60.8% เคยมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน โดยฝ่ายชายมีแนวโน้มมีเพศสัมพันธ์กับคนจำนวนมากกว่าฝ่ายหญิง
ส่วนปัจจัยที่มีส่วนส่งเสริมหรือกระตุ้นให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมนั้น จำนวน 70.8 % เห็นว่าคือวีซีดีหรือดีวีดีลามก ที่หาซื้อได้ง่าย และจำนวน 62.3 % คือการลงรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือภาพโป๊ในสื่อ อาทิ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร และอีกจำนวน 59% เห็นว่าคือเว็บไซต์ลามกในอินเทอร์เน็ต
จากผลสำรวจดังกล่าวเป็นสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน มีทรรศนะที่เปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องเพศมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะส่งผลให้เด็กเหล่านี้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น
สาเหตุของปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควร
1. ปัจจัยด้านพันธุกรรม พัฒนาการทางด้นร่างกายและจิตใจของวัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะฮอร์โมนในร่างกาย มีผลกระตุ้นให้มีความสนใจกับเพศตรงข้าม รวมทั้งแรงขับตามธรรมชาติ ที่ทำให้ใคร่รู้ ใคร่ลอง ในเรื่องเพศ จนทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั่งใจขึ้น
2. เริ่มต้นตั้งแต่การแต่งตัวที่เปิดเผยมาก เสื้อที่เปิดให้เห็นเนินอกมากเกินไป เสื้อที่เปิดสะดือ
กางเกงที่รัดมากเกินไป เน้นส่วนสัดชัดเจนเกินไป
3. วัยรุ่นขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่มีแฟนหรือคนรักหากไม่รู้จักการปฏิเสธเมื่อถูกขอ มีค่านิยมสมัยใหม่ที่ผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ คือเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ และการมีเพศสัมพันธ์กันตามกระแสวันสำคัญ
4. การอยู่หอพัก อยู่ห่างจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง การเที่ยวในสถานเริงรมย์ การเที่ยวงานปาร์ตี้ การเที่ยวต่างจังหวัด มีการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดจนทำให้ขาดสติ
5. การอยู่ด้วยกันสองต่อสองระหว่างชายหญิงในที่ลับตาคน และในบรรยากาศที่จะนำไปสู่การมีเพสสัมพันธ์ได้
6. สถาบันครอบครัวและศาสนา ที่ปัจจุบันได้อ่อนแอลง เด็กได้รับความอบอุ่นจากครอบครัวน้อยจากที่พ่อแม่ต้องวุ่นกับการทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงลูก หรือบางครอบครัวพ่อแม่มีปัญหาหย่าร้างต้องแยกทางกันทำให้เด็กต้องออกไปหาความอบอุ่นจากเพื่อนและแฟน ซึ่งถือเป็นเรื่องเสี่ยงที่ทำให้เด็กกกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมได้ นอกจากนี้เด็กในยุคปัจจุบันยังห่างไกลวัดไม่เคยไปทำบุญไหว้พระ เด็กจึงไม่รู้จักสิ่งผิดชอบชั่วดี เพราะขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
7. เรื่องเพศได้ถูกนำเสนอออกมาทางสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งยังไม่นับรวมกับสื่อลามกที่มีอยู่เกลื่อนหาซื้อได้ง่าย ทำให้เด็กวัยรุ่นเข้าถึงเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
8. สภาพสังคมที่ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชายหมกมุ่นและมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นจากสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ทำให้ต้องมาลงกับเพศหญิง จนเป็นเหตุให้เกิดการคุกคามทางเพศ รุมโทรม และการข่มขืน และจากประเด็นนี้ทำให้ผู้ชายเกิดการเรียกร้องจากฝ่ายหญิง ซึ่งจะเป็นเหตุที่นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันควร
9. ปัญหาการขาดการอบรมกล่อมเกลาขาดความใกล้ชิดสนิทสนม ทั้งจากครอบครัวทั้งจากสังคมแวดล้อมจากสังคม เช่น สนามกีฬาที่ออกกำลังกายไม่มี ที่พักผ่อนหย่อนใจไม่มี ที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสนใจไม่มีโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆไม่มีสิ่งเหล่านี้ ด้านครอบครัวเช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไม่เคยใกล้ชิดลูก ไม่เคยแนะนำกล่อมเกลาหรือเป็นตัวอย่างที่ดี เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการขาดความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการสืบทอดความคิด ความเชื่อ ประเพณี แนวปฏิบัติต่อตนเองและสังคม
10. สภาพแวดล้อม เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี พบเห็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น การเห็นคนรอบข้างหรือเห็นคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย ก็จะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และการเห็นบ่อยๆ จนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เด็กก็จะมีค่านิยมที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ
11. สื่อต่างๆ การได้รับสื่อที่ยั่วยุ ส่งเสริมการมีพฤติกรรมทางเพศ เรื่องเพศได้ถูกนำเสนอออกมาทางสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งยังไม่นับรวมกับสื่อลามกที่มีอยู่เกลื่อนหาซื้อได้ง่าย ทำให้เด็กวัยรุ่นเข้าถึงเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
12. การเลียนแบบพฤติกรรมตามกระแสตะวันตก อาทิ การจับคู่อยู่กิน การทำสถิตินอนกับผู้ชาย
การมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อน
13. วัยรุ่นมักหลงอยู่กับวัตถุนิยมมากเกินไป และชอบตามเพื่อน เมื่อตัวเองไม่ได้ก็ต้องไขว่คว้าหาวิธีการที่จะได้สิ่งของที่ตนเองต้องการวัยรุ่นก็ต้องหาวิธีการที่จะได้สิ่งของนั้นมาให้ได้เร็วที่สุด นั่นคือการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ยอมเสียตัวเพื่อแลกกับการได้เงิน
ผลกระทบของปัญหาหารมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
ผลกระทบต่อตัวของวัยรุ่นทั้งทางร่างกายและจิตใจ
1. การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ในช่วงวัยรุ่นการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ทางร่างกายทำให้เกิดความพร้อมทางภาวการณ์เจริญพันธุ์สูงมาก การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ของวัยรุ่น เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นการตั้งครรภ์ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากทั้งทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม และปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ส่งผลกระทบต่ออนาคตของวัยรุ่นอย่างมากด้วย
ลักษณะของปัญหาจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์มีดังนี้
1.1 ฝ่ายหญิงที่เป็นฝ่ายที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมาก็ไม่อาจศึกษาเล่าเรียนต่อไปได้ ทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน ซึ่งก็หมายถึงอนาคตการเรียนก็หมดไปอย่างสิ้นเชิงบางรายเมื่อตั้งครรภ์ก็ไม่กล้าบอกพ่อแม่ ผู้ปกครองทราบแต่ก็ไม่สามารถปกปิดได้ตลอดไป จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปเผชิญชีวิตด้วยตนเอง เมื่อคลอดลูกก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาสังคม
1.2 ในบางกรณีตัดสินใจทำแท้งเพื่อยุติการตั้งครรภ์โดยหวังว่าเมื่อไม่ตั้งครรภ์แล้วจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตและศึกษาเล่าเรียนได้ตามปกติ ในความเป็นจริงแล้วการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดทั้งทางด้านศีลธรรม กฎหมาย และค่านิยมของสังคม และที่สำคัญที่สุดคือ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ ในบางรายที่ทำแท้งโดยผู้ทำไม่ใช่แพทย์อาจเป็นอันตรายรุ่นแรง เช่น ตกเลือด ติดเชื้ออย่างรุ่นแรง ทำให้เสียชีวิตได้ หรือบางรายอาจต้องผ่าตัด ตัดมดลูกทิ้งทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกเลยตลอดชีวิต
1.3 ในบางกรณี เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมาจะทำให้เกิดภาวะจำยอมที่ต้องแต่งงานกัน โดยทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตคู่ที่ต้องมีภาระเลี้ยงดูบุตร ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวซึ่งนำไปสู่การหย่าร้างในที่สุด
1.4 ปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ วัยรุ่นที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มักจะมีความรู้สึกว่าตนทำผิดเกิดความละอายใจและวิตกกังวลว่าคนอื่นจะรู้คิดถึงฝ่ายชายจะรับผิดชอบหรือไม่ พ่อแม่จะคิดอย่างไร ทำให้เก็บตัวเกิดความเศร้าโศก รู้สึกเครียดแต่สิ่งเหล่านี้จะลดน้อยลงได้ถ้าคนในครอบครัวยอมรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นและให้อภัย
2. เสียการเรียน เมื่อคนเราหมกมุ่นกับเรื่องเพศ มีเวลาอยู่กันมาก จะทำให้สนใจการเรียนน้อยหรือไม่สนใจการเรียนเลย มักขาดเรียนบ่อย หรือหนีเรียนไปเลย หลายคนต้องลาออกจากโรงเรียน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงจะพบมาก แต่ฝ่ายชายก็มีเหมือนกัน และงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า ผลของการมีเซ็กส์ในวัยรุ่นสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเรียนและผลการเรียนที่ตกต่ำลงด้วย
3. การที่วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เสรีมากขึ้นทำให้การมองเห็นคุณค่าตนเองเปลี่ยนไป การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นส่งผลให้วัยรุ่นมองกิจกรรมทางเพศเป็นเพียง “การแลกเปลี่ยน” อารมณ์และวัตถุทางเพศ ยิ่งเมื่อมีบ่อยครั้งขึ้นการเคารพและเห็นคุณค่าตนเองก็จะยิ่งน้อยลง
4. การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ที่สำคัญคือ โรคในกลุ่มกามโรคและโรคเอดส์ โดยเฉพาะโรคเอดส์เป็นโรคที่กำลังแพร่ระบาด และทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างมาก ทั้งยังเป็นโรคที่ไม่มียาหรือวิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ และไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ การติดเชื้อโรคเอดส์จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมตามมา ทั้งยังทำลายอนาคตอีกด้วย
ผลกระทบต่อครอบครัว
1. สร้างความทุกข์ให้กับพ่อแม่ ไม่มีพ่อแม่คนใดที่พอใจเมื่อลูกของตนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร แต่ที่พ่อแม่บางคนมีการยอมรับกันนั้นก็ด้วยความสงสารลูก ซึ่งพ่อแม่จะต้องทุกข์ระทมใจกับการกระทำที่ผิดพลาดของลูก
2. .เสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล คำโบราณกล่าวว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน”เพราะถ้ามีส้วมอยู่หน้าบ้าน ถ้าส้วมแตกขึ้นมาจะเหม็นและอับอายชาวบ้าน เปรียบเทียบกับลูกสาวถ้าได้รับความเสียหายทางเพศเกิดขึ้น พ่อแม่ก็จะอับอาย วงศ์ตระกูลจะพลอยมัวหมองไปด้วย
3. เกิดความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัวและอาจเกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ตั้งใจ
4. เกิดปัญหาการหย่าร้างมากขึ้น
ผลกระทบต่อสังคม
1. ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ได้แก่
1.1 เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาการทำแท้ง และปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กเร่ร่อน
1.2 ปัญหาความเสื่อมของวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทย
1.3 ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
1.4 ปัญหายาเสพติด ปัญหาเรื่องบุหรี่ เหล้า การพนัน
1.5 ปัญหาแหล่งบันเทิง ผับ บาร์ ดิสโก้เธค สถานอาบอบนวด ซ่อง
1.6 ปัญหาเรื่องภาพยนตร์โป๊ หนังสือโป๊ หรือเรื่องโป๊เปลือยร่างกาย
1.7 ปัญหาการล่อลวง
1.8 ปัญหาคุณภาพของประชากรต่ำ
2. . ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและปัญหาร่วมต่างๆ ทำให้ขาดประชากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง
หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย
1. กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย
2. กระทรวงสาธารณะสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาล กรมอนามัย กรมส่งเสริมสุขภาพ
3. สถาบันครอบครัว
4. กระทรวงวัฒนธรรม
แนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆ
1. กระทรวงศึกษาธิการ
ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ ประสงค์จะให้มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา นักเรียน นักศึกษา มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล จึงกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนมีเพศสัมพันธ์ ก่อนวัยอันสมควร ให้สถานศึกษาถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ให้สถานศึกษา ครู อาจารย์ เข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสริมบทบาทและความสำคัญของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว และชุมชน
2. ให้สถานศึกษาดำเนินการให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้นักเรียน นักศึกษารู้จักคิดและเข้าใจในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รู้จักเคารพและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ ด้วยกันทุกระดับวัย สร้างค่านิยมและทัศนคติระหว่างเพศที่ถูกต้อง และมีความซาบซึ้งในคุณค่าของ วัฒนธรรมและขนบประเพณีอันดีงามของไทย รู้จักการวางตัวให้เหมาะสม ไม่มีพฤติกรรม ทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน นักศึกษา
3. ให้สถานศึกษาสร้างความสำนึกและความเข้าใจแก่ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของเด็ก และหน้าที่ที่เด็กและเยาวชนต้องปฏิบัติแนวทางในการป้องกันแก้ไขและการให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่ตกอยู่ในสภาวะยากลำบากเนื่องจากการมี เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
4. ให้สถานศึกษาดำเนินการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา สถานศึกษา ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สารวัตร นักเรียน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อประสานความร่วมมือในการป้องกันมิให้นักเรียน นักศึกษา มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
5. ให้สถานศึกษาให้ความรู้ด้านเพศศึกษา โดยบูรณาการให้เหมาะสมกับเพศและวัยให้ความรู้ในการระวังรักษาตนเอง การรู้จักหลีกเลี่ยงต่อสถานการณ์ที่ล่อแหลม หรือเป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายทางเพศ รวมทั้งการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
6. ให้สถานศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องภายนอกโรงเรียน เพื่อพิจารณาแนวโน้มด้านโอกาสและอุปสรรคในการดำเนินการและการแก้ไขปัญหา กวดขัน สอดส่อง นักเรียน นักศึกษาที่หนีการเรียน หรือใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปมั่วสุมในสถานเริงรมย์ หรือสถานที่ ไม่เหมาะสม ศึกษาสภาพแวดล้อมและสอดส่องดูแลพื้นที่ในบริเวณสถานศึกษาที่เสี่ยงต่อ การเกิดปัญหา มีมาตรการควบคุมและรักษาความปลอดภัยและจัดการไม่ให้มีจุดอับหรือล่อแหลมต่อการเกิดปัญหา มีมาตรการควบคุมและรักษาความปลอดภัยและจัดการไม่ให้มีจุดอับหรือเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการเกิดเหตุอันตรายหรือไม่ปลอดภัย
7. ให้ครูอาจารย์ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ปฏิบัติต่อนักเรียน นักศึกษา โดยเข้าใจถึงปัญหาความต้องการ และจิตวิทยา ของเด็กและเยาวชนด้วยความมีเมตตาปรารถนาดี ความอดทน และความยุติธรรม
8. ให้สถานศึกษาสำรวจและจัดทำข้อมูลกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นักเรียน นักศึกษาที่มีพฤติกรรมเที่ยวกลางคืน ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีผู้ปกครองดูแล หรือมีปัญหาทางครอบครัว กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในสภาพเสี่ยงหรือมีสภาพชีวิตที่ล่อแหลมต่อการเกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เช่น มีบิดามารดาแยกกันอยู่ หรือพักร่วมกับบิดามารดาที่สมรสใหม่ บิดามารดาหรือผู้ปกครองประกอบอาชีพที่อาจทำให้เกิดความโน้มเอียงให้เกิดความเสี่ยง หรือมีรายได้ต่ำ และข้อมูลนักเรียน นักศึกษาที่อยู่หอพักหรือเช่าที่พักอยู่ตามลำพัง โดยให้มีมาตรการในการเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา กลุ่มเหล่านี้โดยใกล้ชิด
9. ให้สถานศึกษาควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษา ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย
10. ให้สถานศึกษาจัดทำระบบและกลไกในการช่วยเหลือดูแลนักเรียน นักศึกษาที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก หรือตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยการรู้จักนักเรียน นักศึกษา เป็นรายบุคคล คัดกรองนักเรียนเพื่อจำแนกกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่มีปัญหา ส่งเสริมกิจกรรมโฮมรูม หรือประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับบิดามารดาหรือผู้ปกครองนักเรียนที่ประสบปัญหา ส่งเสริม กิจกรรมแก้ไขปัญหาและคลี่คลายปัญหาร่วมกัน
11. ในกรณีที่นักเรียน นักศึกษาถูกกระทำละเมิดหรืออยู่ในภาวะยากลำบากจากสาเหตุการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ให้สถานศึกษาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยศึกษาปัญหาหรือสาเหตุและให้คำปรึกษา ดูแลรักษาสภาพร่างกายและจิตใจ ประสานงานกับบิดามารดา หรือ ผู้ปกครอง และจัดส่งสถานพยาบาล สถานที่พักฟื้น หรือสถานที่ปลอดภัย เพื่อให้การบำบัดเยียวยา โดยจัดให้มีระบบส่งต่อภายในและภายนอกสถานศึกษา
12. มิให้ถือว่านักเรียน นักศึกษาที่ประสบปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย อันควรเป็นผู้กระทำผิดที่ต้องลงโทษ โดยต้องไม่ผลักดันออกจากสถานศึกษา แต่ต้องถือว่าเป็นผู้ที่สถานศึกษาต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ หากมีความจำเป็นต้องพักการเรียนชั่วคราว เนื่องจากผล ที่เกิดขึ้น ให้สถานศึกษาประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด หน่วยงานต้นสังกัด หรือสถานสงเคราะห์ เพื่อส่งนักเรียน นักศึกษาที่ ประสบปัญหาเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูเมื่อสภาพร่างกายและจิตใจกลับคืนสู่สภาพปกติและมีความพร้อมแล้ว ให้รับนักเรียน นักศึกษารายดังกล่าวกลับเข้าเรียนในสถานศึกษาตามเดิม
แนวคิดหลักในการพัฒนาการเรียนรู้เรื่อง “เพศศึกษา” ตามหลักสูตรใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข มี 7 ด้าน คือ
1. พัฒนาการทางเพศ (Human sexual development) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจเรื่องเจริญเติบโตและพัฒนาการทางเพศตามวัย ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
2. สุขอนามัยทางเพศ (Sexual health) หมายถึง ความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลรักษาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อนามัยการเจริญพันธุ์ ความเข้าใจต่างๆ ในเรื่องเพศ
3. พฤติกรรมทางเพศ (Sexual behavior) หมายถึง การแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมกับเพศและวัย
4. สัมพันธภาพ (Interpersonal relation) หมายถึง การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกัน และต่างเพศ การเลือกคู่ การเตรียมตัวก่อนสมรส และการสร้างครอบครัว
5. ทักษะส่วนบุคคล (Personal and communication skills) หมายถึง ความสามารถในการจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
6. สังคมและวัฒนธรรม (Society and culture) หมายถึง ค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย และการปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุต่าง ๆ
7. บทบาททางเพศ (Gender role) หมายถึง การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล.
2. กระทรวงสาธารณะสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาล กรมอนามัย กรมส่งเสริมสุขภาพ
หน่วยงานต่างๆ ได้มีการรณรงค์ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และมีการให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศที่ถูกต้อง ปัญหาต่างๆ ที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้องแก่เยาวชน
3. สถาบันครอบครัวครอบครัวเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
1. ให้ความรักความอบอุ่นกับลูก ทำใจยอมรับเมื่อลูกทำผิด
2. คุยเรื่องเพศกับลูก โดยสอนให้เข้าใจและถูกต้อง ถ้าผู้ปกครองมัวแต่คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรพูดกับวัยรุ่น ขอให้คิดเสียใหม่เพราะวัยรุ่นเป็นวัยอยากลอง หากพวกเขาไม่มีที่ปรึกษาที่ดีอาจทำให้เขายิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น ผู้ปกครองเป็นยาในการป้องกัน และการให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ดีที่สุด
หัวข้อที่ควรจะพูดคุยเรื่องเพศกันในครอบครัว :
1. การดูแลรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ รู้จักสอนลูกให้เรียกชื่ออวัยวะเพศให้สุภาพ ฟังได้ ไม่เขินอาย และพูดให้เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ
2. ความรัก ความอบอุ่น ความสุขในการใช้ชีวิตคู่ แสดงให้เห็นความรักความผูกฝันของพ่อแม่ เป็นตัวอย่างอันดีให้ลูกๆ เลียนแบบ อย่าลืมว่า ลูกๆ จะเลียนแบบพ่อแม่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางดีหรือไม่ดี การสอนให้มีความรักในครอบครัวจะเป็นเกราะกำบังลูกๆ ไม่ให้ติดยาเสพติด หรือริมีความรักที่ไม่ปลอดภัยในวัยเรียน
3. พ่อต้องพูดคุยกับลูกชาย สอนลูกชายให้เรียนรู้พฤติกรรมในการเป็นสุภาพบุรุษ แม่ต้องสั่งสอนลูกสาวให้เป็นสุภาพสตรี รักนวลสงวนตัว ชี้ตัวอย่าง หรือผลร้ายในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รวมทั้งสอนการวางตัวที่ถูกต้อง การหัดปฏิเสธสิ่งยั่วยุทั้งหลาย
4. ความเข้าใจผิดต่างๆ ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือตนเอง การมีพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบน การแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม ต้องได้รับคำแนะนำถึงทางที่ถูกที่ควร อย่างถูกต้องตามกาลเทศะที่เหมาะสมอย่างไม่เป็นทางการ
5. การตอบสนองต่อสิ่งเร้าอารมณ์ทางเพศ ว่าควรจะเป็นไปในทางใด จึงจะเหมาะสมกับวัยและสถานการณ์ รวมทั้งความสามารถในการอดทนอดกลั้น ควบคุมอารมณ์ หรือเบี่ยงเบนความสนใจในเรื่องเพศ หันไปสนใจในดนตรี การออกกำลังกาย การเรียน การงานที่มีประโยชน์กว่าแทน
6. ทักษะในการปฏิเสธการมีความสัมพันธ์ทางเพศสำหรับลูกผู้หญิง วิธีการหลีกเลี่ยง ที่จะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การป้องกันตนเองจากการโดนข่มขืนหรือลวนลามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อน คนใกล้ชิด ญาติ หรืออาชญากรทางเพศตามท้องถนน วิธีการช่วยเหลือตนเองเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้ง การแก้ไขสถานการณ์ และการหาความช่วยเหลือ หลังจากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ต้องการให้เกิด ผ่านพ้นไป
นอกจากนี้ การสอนให้รู้จักความรักที่ปลอดภัย การมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ปลอดภัย ก็สามารถเป็นหัวข้อในการสนทนาพูดคุยกันได้ เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเกิดขึ้น
4. กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมยังทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระเนื้อหาวันวาเลนไทน์ตามความเชื่อของชาวตะวันตกว่า วันวาเลนไทน์แท้จริงหมายถึงอะไร มีความสำคัญอย่างไร ไม่ใช่หมายถึงวันที่ต้องมีเพศสัมพันธ์กันอย่างที่เด็กไทยเข้าใจ และไม่อยากให้หลายหน่วยงานมาแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งแท้จริงแล้วหญิงไทยต้องรักนวลสงวนตัวอย่างที่คนโบราณพร่ำสอนมาว่าอย่าชิงสุกก่อนห่าม ดิฉันจึงมอบหมายน.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นำเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหา สถิติการมีเพศสัมพันธ์ของเด็กไทย รวมไปถึงทางออก เช่น รู้จักปฏิเสธคนรักไม่มีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ ค่านิยมพึงประสงค์ ไม่พึงประสงค์ เผยแพร่ลงในเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรมโดยเร็วที่สุด
1.รักอย่างมีขันติ หลีกเลี่ยงการเป็นพ่อเป็นแม่ตั้งแต่วัยรุ่น
2.รักอย่างมีสัจจะ รักเดียวใจเดียว
3.รักอย่างมีเมตตา ทะนุถนอม ไม่ทำร้ายคนที่เรารัก
4.รักอย่างไม่ประมาท หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อโรคติดต่อ
5.รักอย่างให้เกียรติกัน รักแท้ต้องรอคอย
6.รักอย่างถูกจารีต รักจริงต้องหวังแต่ง
7.รักอย่างมีเหตุผล ไม่ฉกฉวยโอกาสมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก
8.รักอย่างมั่นคง ไม่ทำลายชื่อเสียงคนที่เรารัก
9.รักอย่างซื่อสัตย์ มีความศรัทธาในคนรัก
10.รักอย่างเข้าใจกัน ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธคนรัก
นโยบายด้านสื่อเพื่อการพัฒนาเด็ก นโยบายด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว นโยบายด้านการจัดพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเด็ก ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยต้องบูรณาการมิติวัฒนธรรมเข้าในงานพัฒนาทุกๆ ด้าน เป็นแผนระยะยาว ดังนี้
1.จัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเขตเมืองทุกแห่ง ให้เป็นพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมที่มีคุณภาพ และพอเพียงกับความต้องการในการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้งปรับปรุงกลไกในการจัดผังและวางแผนชุมชนเมือง การก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างศูนย์การค้าหรือแหล่งธุรกิจอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน
2. ส่งเสริมและพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของเด็ก และเยาวชน
สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ได้ทวีความรุนแรงสูงมากขึ้นเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการมีทัศนคติและพฤติกรรมเบี่ยงเบน เหินห่างศาสนามีค่านิยมแบบบริโภคนิยมอย่างฟุ่มเฟือย การทะเลาะวิวาท ติดยาเสพติด การเสพสื่อลามกอนาจาร ติดเกม ฯลฯ ซึ่งปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และขาดความรู้ความเข้าใจในการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่มีแนวโน้มรุนแรงและหนักหน่วงจนน่าตกใจ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของสื่อที่ไม่เหมาะสมหรือลามกอนาจารผ่านทางสื่อแต่ละประเภท จนทำให้เด็กและเยาวชนไทยซึ่งขาดภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ มีการเลียนแบบพฤติกรรมและนำไปสู่ปัญหาดังกล่าว
ปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่ง มาจากความไม่สมดุลของครอบครัว เนื่องจากครอบครัวจำนวนไม่น้อย ขาดความรู้ความเข้าใจ เรื่องเพศศึกษา จึงไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับบุตรหลานได้อย่างเหมาะสม สำหรับบางครอบครัวได้ผลักภาระหน้าที่การให้ความรู้ด้านเพศศึกษาไปให้แก่ครู อาจารย์ หรือผู้อื่นสอนแทน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีทัศนคติว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอับอาย ต้องปกปิดไม่สมควรพูดอย่างเปิดเผย หรือเข้าใจว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาให้แก่ลูกหลานในครอบครัวอาจเป็นดาบสองคม นอกจากนั้น การไม่มีเวลาดูแลพูดคุยให้คำแนะนำปรึกษากับลูกหลาน เพราะห่วงเรื่องเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพเป็นหลัก (งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การให้ความรู้หรือคำแนะนำที่ถูกต้องเรื่องเพศศึกษานั้น ผู้ปกครองในครอบครัวสามารถให้ความรู้กับลูกหลานได้ใกล้ชิดกว่าคนอื่น และเด็กจะเชื่อฟังมากกว่า
เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรหรือยังไม่พร้อมนั้น ปัญหาในส่วนอื่นๆ ย่อมตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเสียอนาคตที่ดีในชีวิตของทั้งฝ่ายชายและหญิง ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาการทำแท้ง การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเลี้ยงลูกที่ไม่ถูกวิธีเพราะตัวพ่อแม่เด็กเอง ไม่มีวุฒิภาวะในการอบรมเลี้ยงดู การทอดทิ้งลูกให้เป็นลูกกำพร้า ซึ่งเด็กที่ถูกทอดทิ้งเหล่านั้น ล้วนมีความเปราะบางทางสภาพติดใจ และอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมที่ไม่สามารถคลายปมให้หลุดได้
จากผลการศึกษาสถิติด้านสาธารณสุขพบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๕๒ วัยรุ่นมีการตั้งครรภ์ก่อนวัย เพิ่มขึ้นจาก ๑๐% มาเป็น ๔๐% และจากการสำรวจ ในช่วง ๗ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๕๐ พบว่า ช่วงอายุการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร มีแนวโน้มลดลงด้วย โดยพบว่าเด็กอายุ ๑๐ ปี มีการตั้งครรภ์สูงถึง ๖๐ คน และเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี คลอดบุตรจำนวน ๕๕,๖๔๘ คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำรวจเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น
การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเด็กและเยาวชน ถือเป็นปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องหนักใจของทั้งคุณพ่อคุณแม่ของเด็ก และรวมถึงตัวเด็กเอง เพราะโดยปกติแล้วเด็กวัยรุ่นในช่วงอายุ ๑๐-๒๐ ปี ยังไม่พร้อมต่อการเป็นพ่อแม่คน ทั้งทางด้านเสถียรภาพทางการเงิน และวุฒิภาวะทางอารมณ์ ตลอดจนการดูแลรับผิดชอบหรือการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งนักวิชาการด้านสาธารณสุขและนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นหลายท่าน ได้นำเสนอวิธีการป้องกันไม่ให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ดังนี้
๑.การให้ความรู้ กล่าวคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษากับลูกอย่าถือเป็นเรื่องน่าอายและปกปิดไว้ ลูกอาจเรียนรู้ในห้องเรียนมาบ้าง แต่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ใกล้ชิด และเข้าใจลูกมากกว่า จึงทำให้การสอน การพูดคุย ตลอดจนให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งวิธีการเริ่มต้นที่ดีและง่ายที่สุด คือ คุณพ่อคุณแม่ควรหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม ชักชวนลูกพูดคุยหรือเปิดประเด็นสนทนาโดยการสอบถามลูกว่าทราบเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากน้อยขนาดไหน เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและรู้ว่าลูกมีความเข้าใจอยู่ในขั้นไหนแล้วก็ให้เสริมความรู้ต่อจากที่ลูกมี บอกลูกถึงข้อพึงระวังตัว การแต่งกายและการวางตัวให้เหมาะสมกับเพศตรงข้าม รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกาย สภาพจิตใจอันเป็นผลจากฮอร์โมนเพศและความต้องการทางเพศของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องน่าละอาย และยากต่อการพูดคุย แต่คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกในเรื่องนี้โดยพยายามทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา ค่อยๆ พูดทีละเล็กทีละน้อย เพราะจะช่วยให้ลูกเกิดความเข้าใจ เชื่อและยอมรับได้มากกว่าการอธิบายทุกอย่างในครั้งเดียว อีกทั้งยังทำให้ลูกรู้สึกชินว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ อีกทั้งไม่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจอีกด้วย
๒.การคุมกำเนิด
วิธีการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีมากมายหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ อาจหาจังหวะเวลาหรือโอกาสที่เหมาะสมให้ลูก ได้มีโอกาสสอบถามพูดคุยกับหมอหรือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องเพศศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจถึงลักษณะที่แตกต่างกันของการคุมกำเนิดในแต่ละวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด หรือการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ฯลฯ
๓.การจัดกฎระเบียบหรือกติกาภายในครอบครัว
การดูแลให้มีผู้ใหญ่อยู่ด้วยในเวลาที่มีการจัดงานเลี้ยงภายในบ้านหรือสถานที่ต่างๆ หรือการสร้างกฎกติกาให้ลูกโทรศัพท์กลับมาหาทุกครึ่งชั่วโมง หรือในวันเรียนหนังสือไม่อนุญาต ให้กลับบ้านเกิน ๓ ทุ่ม เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แม้ลูกซึ่งเป็นวัยรุ่นอาจคิดว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของเขา แต่เป็นวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ได้อีกทางหนึ่ง
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่เข้าใจยาก คึกคะนอง อยากลองผิดลองถูก ชอบแสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการอิสรเสรีในการดำเนินชีวิต และมีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกหรือบุคคลในครอบครัว การประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน การแสดงความรักความเข้าใจ ห่วงหาอาทร หรือการสร้างความอบอุ่นระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว สิ่งเหล่านี้คือ ภูมิต้านทานที่สร้างได้ภายในครอบครัว และสามารถช่วยให้ลูกหลานห่างไกลจากปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในส่วนของภาครัฐ ชั่วโมงนี้คงไม่ใช่ภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงเท่านั้น ล่าสุด นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเด็กในทุกมิติ ซึ่งในการเปิดเวที “สิทธิเด็ก” ครั้งที่ ๒๐ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ได้กำหนดนโยบายด้านเด็กหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา การดูแลเด็กปฐมวัย และเด็กด้อยโอกาส ให้ได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน สำหรับปัญหาเด็กเยาวชนท้องก่อนวัยอันควร ถือเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำงานเชิงบูรณาการความร่วมมือจัดเวทีเสวนาเรื่อง “รักใสๆ ให้ปลอดภัยของวัยโจ๋” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและร่วมกันหาแนวทางป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น อีกทั้งเป็นการสร้างกระแสให้สังคมได้ตระหนักในปัญหาดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นข้อเสนอที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็นเหล่านั้น จะนำไปพัฒนาเพื่อ เป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
กล่าวโดยสรุป การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเด็กและเยาวชน ต้องเริ่มจากตัวเด็กเองที่ต้องพยายามขัดเกลาตัวเองให้มีวุฒิภาวะที่เหมาะสมตามช่วงวัย รู้จักการยับยั้งชั่งใจและมีสติในการดำเนินชีวิต พ่อแม่บุคคลในครอบครัว หรือสังคมแวดล้อมต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและบ่มเพาะวุฒิภาวะให้แก่เด็กและเยาวชน ในส่วนของภาครัฐ ต้องมีความจริงจังในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสื่อลามกหรือสื่อที่ล่อแหลม ไม่เหมาะสมที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อประเภทต่างๆ รวมถึงสถานที่ล่อแหลมทางเพศ หรือสิ่งยั่วยุพฤติกรรมทางเพศ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องปราบปรามจับกุมและลงโทษผู้กระทำความผิดโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเร่งขยายหรือเปิดพื้นที่สื่อดีให้กว้างขวางและแพร่หลายในสังคมไทย อีกทั้งเร่งปรับปรุงพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยกับสถานการณ์ปัญหาเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชน เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทย ต่อไป
ชอบบทความนี้
ตอบลบขอบคุณครับ
ตอบลบ