ความรู้คู่คุณธรรม
การเรียนรู้วิชาความรู้คู่คุณธรรมเป็นกระบวนวิชาหนึ่งที่มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องความรู้คู่คุณธรรมแม้ว่านักศึกษาจะได้เรียนรู้ ได้รู้จักตนเองในระดับหนึ่งพอสมควรแล้ว แต่การเรียนวิชานี้จะเป็นการเติมเต็มบางเรื่องบางประการ คนเรานั้นควรถือว่า “เราเป็นครูกันคนละอย่าง หลายท่านมีประสบการณ์มาก พอให้มาเรียนวิชาความรู้คู่คุณธรรม ก็บอกว่า ตัวเองทำงานรับผิดชอบมามากมาย บางท่านก็มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่นัก บางท่านได้ทำประโยชน์ต่างๆนานา ทำไมต้องเรียนด้วย สิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ควรยกย่องในประสบการณ์ทั้งหลายทั้งปวง แต่ลองพิจารณาคำว่า “เราเป็นครูกันคนละอย่าง” ยกตัวอย่าง “คุณแม่ของผมท่านมิได้เรียนหนังสือ คุณแม่ผมอ่านหนังสือไม่ออก เซ็นชื่อได้อย่างเดียว ผมก็ถามว่าทำไมแม่เซ็นชื่อถูกต้อง ท่านบอกว่าเพราะจำได้ ผมก็มานึกถึงนักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งชื่อพุ่มพวง ดวงจันทร์ เธออ่านหนังสือไม่ออกแต่ใช้วิธีจำเนื้อเพลงโดยมีคนบอกเนื้อเพลงให้ แม่ผมก็เหมือนกัน เขียนหนังสือได้เซ็นชื่อ นามสกุลของท่านเท่านั้น ขณะนี้อายุ 85 ปีแล้ว แต่ท่านยังสอนผมอย่างน้อยสอนความเป็นแม่ สอนให้รู้ว่าแม่เป็นอย่างไร คือ...ใคร ผมเป็นลูกของท่าน ผมเรียนหนังสือ ผมเรียนกฎหมาย ผมเรียนอะไรมากมายสั่งสมความรู้มาตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้มากมายพอสมควร แต่ผมก็คิดว่าผมรู้ไม่เหมือนกับแม่รู้ แล้วแม่ก็ไม่รู้เหมือนที่ผมรู้ในทุกสิ่งทุกประการมันต้องมีข้อแตกต่างกันไป จึงใช้คำว่า “เราเป็นครูกันคนละอย่าง”การให้ความคิดเช่นนี้ เพื่อสร้างความคิดนี้ให้บังเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในสังคมไทย เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่ไม่ค่อยให้เกียรติกัน ถามว่าทำไมไม่ให้เกียรติกันเพราะคิดว่าตนเองวิเศษ คิดว่าตนเองดีแล้ว เก่งแล้ว ไม่ฟังใครไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ไม่ฟังใคร แต่ถ้าทำความเข้าใจกันตั้งแต่ต่อไปนี้ว่า วิธีการเรียนจะต้องเรียนอย่างมีความรู้กัน ต่างคนต่างแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ต่างเป็นครูกันคนละอย่าง ถ้ามีอาวุโสสูงแล้ว ดีแล้วก็มาแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์แนวความคิดซึ่งกันและกัน
ในวิชาความรู้คู่คุณธรรมนั้น หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมจะต้องเรียนนั้น การเรียนรู้อย่างเดียวยังไม่พอหรือมีคุณธรรมอย่างเดียวก็ไม่พอเช่นกัน จะต้องมาองสิ่งประกอบกับคำว่า มีความรู้กับมีคุณธรรมนั้น จะต้องมองลึกลงไปอีก คำว่า “มีความรู้”แล้วใช้ความรู้ไม่ได้นั้นไม่ถือว่ามี ถ้ามีความรู้แล้วไม่ใช้ความรู้ก็ไม่ถือว่าความรู้อีกเช่นนั้น เหมือน เป็นของที่ไร้ค่า ของเก่าเก็บกลายเป็นวัตถุโบราณไป มีเงินแล้วไม่สามารถจะใช้ได้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเป็นเงินที่เขายกเลิกแล้วหรืออย่างไร หรือว่าเป็นเงินที่ไร้ค่าไปแล้ว หรือไม่มีค่าประการใด
เพราะฉะนั้น การมีความรู้นั้นก็หมายความว่าจะต้องใช้ความรู้ได้ด้วย ในขณะเดียวกันที่บอกว่ามีคุณธรรมนั้น ก็หมายความว่านอกจากจะมีคุณธรรมแล้ว จะต้องใช้หรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างมีคุณธรรมด้วยเช่นเดียวกัน บางท่านกล่าวว่าในเมื่อมีความรู้แล้วมีคุณธรรมแล้วมาเรียนกันทำไม ที่กล่าวเช่นนี้ หมายถึงการเรียนจะเป็นการเติมเต็มความรู้ให้มากขึ้น เปรียบเหมือนทองแท้จะต้องขัดเงากันอีกนิดหน่อย ก็จะเป็นมันวาวมากขึ้น
การศึกษาใดๆก็ตามแต่ถ้าหากไม่เข้าใจว่าเรียนไปทำไมหรือคิดไม่ออกว่าจะนำไปใช้อะไร ก็ใช้ไม่ได้ ก่อนอื่นจะต้องรู้เสียก่อนว่าศึกษาไปทำไม หรือศึกษาอะไร คำว่า “ศึกษา” ก็ดี “ปัญญา” ก็ดี สองคำนี้ประกอบกันเป็นความรู้ เพราะจะต้องมีสติปัญญา ถามว่าจะมีสติปัญญาได้ด้วยวิธีใด คำตอบก็คือ ได้ด้วยการศึกษา ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นกระบวนการสร้างสติปัญญา คือมีปัญญาอย่างเดียวไม่ได้
คำว่า “สติ” คือ การระลึกได้ รู้ได้ หรือระลึกได้ เพราะฉะนั้น สติปัญญาจึงหมายความถึง การเกิดปัญญาที่รู้ได้ รู้ได้ด้วยปัญญา กระบวนการสร้างปัญญาคือกระบวนการ ขจัดอวิชชาทั้งปวง อวิชชาคืออะไร อวิชชาแปลว่าไม่รู้ แล้วก็แปลว่ารู้ทั้งสองอย่าง ทำไมจึงแปล ได้ตรงข้ามกันเพราะอวิชชาหมายถึงไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ คือสิ่งที่ควรรู้กลับไม่รู้แล้วไปรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้นั่นเอง แปลว่ารู้ไม่ถูกทาง สิ่งที่เขาไม่ให้รู้ก็ไปรู้เข้าให้ คำว่าอวิชชาจึงแปลได้ทั้งสองทางคือแปลว่ารู้กับไม่รู้
ในกระบวนการสร้างสติปัญญานั้น เมื่อก่อให้เกิดสติปัญญาแล้วจะต้องขจัดอวิชชาได้ด้วย ตัวอย่างเช่น เสมือนหนึ่งดอกบัวที่โผล่ออกมาจากโคลนตมจากดินเลนสามารถขจัดอาสวะทั้งปวงได้ ขจัดโคลนออกจากดอกได้ จึงเป็นกระบวนการทางธรรมชาติขจัดออก ในที่สุดแล้วดอกบัวนั้นก็ไม่มีโคลนตมติดอยู่ ก็สามารถที่จะนำไปบูชาพระได้ เมื่อนำขึ้นมาก็จะเห็นได้ว่าจะเป็นดอกบัวที่สะอาดไม่มีโคลนตมติดอยู่ ทั้งๆที่เกิดมาจากโคลนตม เพราะได้มีกระบวนการขจัดอาสวะทั้งปวงนั้นแล้ว เฉกเช่นเดียวกับคนเราไม่ว่าจะเกิดในที่ใด อาทิ “ตัวผมเป็นลูกชาวนา มีโคลนตมติดตัวมาแต่เล็ก ผมก็พยายามขจัดขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ได้เป็นครูกับเขาคนหนึ่ง” ฉะนั้นควรจะแยกแยะเสียก่อนระหว่างความรู้คู่คุณธรรม จะต้องแยกแยะให้ได้ว่ามนุษย์เรานั้นมีวิธีการคิดโดยใช้สติปัญญาได้ก็สามารถไตร่ตรองในสิ่งต่างๆ ได้ด้วยเหตุด้วยผลไม่ตามกระแสสังคม บ้านเราตามกระแสกันมากซึ่งเป็นสิ่งน่าปริวิตก บางวันมีข่าวโน้นข่าวนี้ก็เชื่อกันโดยไม่ได้วิเคราะห์ เช่น บางวันก็มีข่าวงูที่เขาเรียกมากินอาหารได้ ก็พากันไปไหว้งู ไหว้งูไม่พอ พากันไปซื้อหวย งูมันให้หวยได้ กลายเป็นเรื่องวิเศษวิโสไปเลย น่าเอ็นดูแท้ บ้านเมืองจะไปรอดหรือไม่ จะคิดอย่างไม่มีเหตุผลไม่ได้ การคิดโดยมีเหตุผลโดยนัยของเหตุผล หมายความว่าใช้สติปัญญาไตร่ตรอง สติปัญญาก็เกิดมาจากจากกระบวนการขจัดอวิชชานั่นเอง ดังนั้นควรเรียนรู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ไม่ควรรู้ก็อย่าไปรู้ พอมีสติปัญญาแล้วก็ต้องใช้สติปัญญา เรียกว่า โยนิโสมนสิกา คือการใช้สติปัญญาไตร่ตรองด้วยเหตุผล ไม่ตามกระแสสังคมที่ผิด ไม่ใช่เขาเห็นว่าคนนั้นไม่ดีคนนี้ไม่ดี ก็พลอยเห็นว่าไม่ดีไปด้วย หรือเขาเห็นว่าคนนั้นดี ก็เห็นว่าดีด้วย อย่างนี้ไม่ใช่ โยนิโสมนธิการ คนเราจะต้องรู้จักใช้สติปัญญาไตร่ตรองว่าดีจริงหรือไม่ ที่ว่าดีดีอย่างไร ไม่ดีนั้นไม่ดีอย่างไร คนไม่ดีจะอยู่ในตำแหน่งเป็นสิบปีได้อย่างไร คนที่ทำงานให้บ้านให้เมืองจะเป็นโจรแผ่นดินไม่ได้ จะต้องใช้สติปัญญาและความรู้พื้นฐาน ต่างๆ มาประกอบ มาประมวลกันแล้วค่อยตัดสิน แต่สังคมบ้านเราน่าตกใจ หลายครั้งทำให้คนดีท้อแท้ท้อถอยได้ เพราะความไม่รู้นั่นเอง สิ่งที่ควรรู้แล้วไม่รู้ สิ่งที่ควรไตร่ตรองไม่ได้ไตร่ตรอง แสดงว่าไม่มีโยนิโสมนสิการไม่มีกระบวนการสร้างสติปัญญา นั่นเอง
ในกระบวนการสร้างสติปัญญานั้น มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทำกันอยู่ก็คือการศึกษา การศึกษาที่ทุกคนกำลังทำกันอยู่น่าชื่นชมยินดีโดยแท้ ท่านผู้มีอาวุโสหลายท่านแทนที่จะนอนอยู่บ้านกลับมาเรียนหนังสือ คนเหล่านี้มาเรียนอายุจะยืน เพราะได้พบสิ่งที่แปลกใหม่ พบสิ่งที่ควรรู้ควรคิด สิ่งที่คิดว่าตัวเองรู้แล้วไม่ใช้ก็มาคิดได้ คนไทยเราประหลาดอยู่หนึ่งอย่าง ชอบอมพะนำ ไม่ยอมถามคนอื่น ไม่ยอมสอบทานความรู้ กลัวเขารู้ว่าไม่รู้ คิดว่าตัวเองไม่โง่ตลอด ที่ปกปิดไว้เช่นนี้เป็นการฉลาด ความจริงแล้วโง่แท้ๆ ควรจะถามในสิ่งที่ใฝ่รู้ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย ควรจะสั่งสมความรู้ให้เป็นฐานความรู้ (Base of Knowledge)
ฐานความรู้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของการสั่งสมบางทีเรียกว่าจิตวิญญาณ ทุกคนควรที่จะปรับฐานความคิดให้ไปในทางเดียวกันได้แล้ว ตัวอย่างเช่น การเรียนความรู้คู่คุณธรรมนั้นในระดับปริญญาตรีที่เรียนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ควรจำได้และทราบว่าความรู้หมายถึงอะไร ความรู้นั้นเป็นเรื่องของการสร้างสติปัญญา เป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เป็นเรื่องที่ได้ฝึกฝน ได้ใช้สติปัญญาไตร่ตรอง ซึ่งก็คือความรู้ ทีนี้ความรู้ที่ว่านั้นจะต้องตรวจสอบพิสูจน์ได้ว่า เป็นความรู้ที่เชื่อได้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความรู้ที่เชื่อผิดๆ ถ้าคิดด้วยเหตุผล นั่นก็หมายถึง การที่มีกระบวนการที่เกิดความรู้ขึ้น ความรู้ตรงนี้ต้องเป็นความรู้ เป็นวิทยาศาสตร์ รู้แบบทดลองได้ พิสูจน์ได้ เรียนรู้ได้ตามหลักของกาลามสูตร เป็นหลักการคิด มีเหตุมีผลอยู่ในตัวไม่ใช่ใครมาพูดอะไรก็เชื่อทันที โดยไม่ใช้เหตุผลว่าเป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้นการปล่อยให้เกิดกระแส เป็นการทำลายความรู้ ดังนั้นคนเราจะต้องมีความรู้แล้วจะต้องรู้จักคิดต้องรู้จักใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในระดับปริญญาตรีนั้น ปรารถนาให้จำได้แล้วรู้จักคิด คือ จำได้ คิดได้ จำได้ว่าตำราว่าอย่างไร ใครเขาว่าอย่างไร หรือหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร แล้วนำไปคิดว่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร แต่ในขณะเดียวกันในระดับปริญญาโทจะต้องเป็นเรื่องคิดเป็น แล้วนำไปใช้เป็น คิดเป็นตรงนี้ไม่ใช่แค่คิดได้เฉยๆ การคิดเป็นจะต้องเรียนรู้ทฤษฎี ต้องสร้างองค์ความรู้ได้บ้าง จะต้องไต่ระดับได้ว่า ความเป็นมาของเรื่องนั้น ผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง ได้ทฤษฎีมาก็ไม่ใช่ว่าจะนำไปใช้ได้เลย ต้องคิดว่าทฤษฎีนี้มีเหตุผล อย่างไร จะต้องว่าด้วยเหตุด้วยผลเสียก่อน จึงค่อยนำไปใช้ นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันกับการเรียนหนังสือ กับการที่จะออกไปทำมาค้าขาย ออกไปประกอบอาชีพ ส่วนในระดับปริญญาเอกนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่คิดค้นองค์ความรู้ขึ้นมาได้ พูดง่ายๆ คือ ต้องไปงมเข็มในมหาสมุทร เข็มที่ว่านั้นก็คือความรู้หรือองค์ความรู้ ต้องไปค้นพบองค์ความรู้ ต้องไปค้นพบองค์ความรู้ขึ้นมา แล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่ และต้องนำไปใช้ในลักษณะที่รับผิดชอบดูแลสังคมได้
การเรียนวิชาความรู้คู่คุณธรรมก็เป็นการเรียนในลักษณะที่แบ่งออกเป็นสามระดับเช่นกันคือ ในระดับปริญญาตรีให้คิดได้ คิดเป็นในระดับปริญญาโท ต้องคิดเป็นแล้วนำไปใช้ได้ขณะเดียวกันในระดับปริญญาเอกจะต้องหาความรู้ใหม่ สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่แล้วนำไป รับผิดชอบใช้ดูแลบ้านเมืองได้
คำว่าความรู้มีความหมายกว้าง ความรู้มีทั้งที่บอกว่ามีความเป็นเลิศกับมีความเด่น ความเป็นเลิศ หมายถึง การสั่งสมอบรมวิชาการนั้น หรือมีการสั่งสอนวิชาการนั้น หรือมีการวิจัยวิชาการนั้น จนสามารถนำไปใช้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมนั่นแหละจึงเรียกว่าเป็นเลิศทางวิชาการ แต่การเป็นเลิศทางวิชาการเท่านั้นยังไม่พอ แต่เป็นเพียงการตรวจสอบพิสูจน์องค์ความรู้ได้ นำวิชาการมารับใช้สังคม และต้องสามารถนำมาดูแลบ้านเมืองได้ด้วย
ในเรื่องความรู้คู่คุณธรรม จะมีแต่ความรู้ไม่ได้ เพราะเวลานำไปใช้แล้วจะเกิดเหตุกับบ้านเมืองได้ คือ เกิดเหตุกับบ้านเมืองได้ คือ เกิดเหตุเป็นผลร้ายกับสังคม เหมือนมีปืนอยู่ เขาให้นำไปยิงเป้าแต่กลับนำไปยิงคน อย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องใช้ความรู้ความสามารถอย่างไม่มีคุณธรรม แต่ถ้ามีคุณธรรมแต่เพียงอย่างเดียว ความรู้ไม่มีก็จะทำให้เกิดเป็นยุคขึ้นมายุคหนึ่ง เช่น พระภิกษุสงฆ์ถ้ามีแต่คุณธรรมอย่างเดียวไม่มีความรู้ความสามารถ อย่างปัจจุบันนี้ คนเข้าวัดไปเพื่อทำบุญอธิษฐานจิตเพื่อที่จะให้เกิดดีกว่าหรือเพื่อจะให้อะไรต่างๆ เหล่านั้น ไม่เหมือนแต่ก่อน เวลาไปวัดนั้น เป็นเรื่องขจัดทุกข์ มีปัญหากฎหมายก็ไปให้พระชี้ ทะเลาะกันในเรื่องใดก็ไปให้พระชี้ พระจะชี้นำสังคมได้ถามว่าทำไมพระชี้นำสังคมได้ ก็เพราะคนทั้งหลายเชื่อมั่นว่าพระเป็นผู้มีคุณธรรมเนื่องจากเป็นผู้ทรงศีล และเป็นผู้มีจริยธรรม นั่นหมายความว่าพระเป็นผู้มีคุณธรรม ในเมื่อพระเป็นอย่างนั้นแล้ว ประชาชนก็ไปหาเพราะคนในหมู่บ้านนั้น ไม่มีใครรู้เกินพระ พระเป็นผู้ที่มีความรู้ แต่มา ณ วันนี้จะสังเกตได้ว่า คนที่ไปวัดมุ่งแต่เรื่องการทำบุญเท่านั้น ไม่ได้มุ่งให้พระขจัดทุกข์ ในเรื่องความรู้เลย ไปมุ่งให้พระขจัดอวิชชา ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้ดีว่า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไร ถ้าหากมีแต่ความรู้ไม่มีคุณธรรมก็ใช้ไม่ได้ หากมีแต่คุณธรรมไม่มีความรู้ก็ใช้ไม่ได้อีกเช่นกันจะต้องให้ทั้งสองอย่างมีดุลยภาพกัน จะต้องให้ทั้งสองอย่างมี ทั้งสองอย่างเกิดถึงจะใช้ได้
ส่วนคำว่า “คุณธรรม” หมายความว่าอย่างไร คุณธรรม หมายถึง ความสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี แล้วทำแต่สิ่งดีไปโดยตลอด อย่างนี้เรียกว่ามี คุณธรรม คือ คิดเฉยๆ ไม่ได้ต้องกระทำดีด้วย คือจะต้องแยกแยะได้ว่า อะไรไม่ดี แล้วทำแต่สิ่งที่ดีนั้นแหละเรียกว่า มีคุณธรรม
ดังนั้น ความรู้คู่คุณธรรมจึงหมายความว่าสามารถใช้โยนิโสมนสิการ สามารถใช้สติใช้กระบวนการขจัดอวิชชาต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงได้ก่อให้เกิดปัญญาขึ้นมา แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านต่อเมืองต่อสังคม นั่นเรียกว่าความรู้ การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปัจจุบัน ได้สั่งสมความรู้ให้ลูกศิษย์จนได้รับการพิสูจน์ในทางวิชาการแล้วว่าการผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ต้องการของบรรดานายจ้างทั้งหลาย นับเป็นความภูมิใจเป็นที่สุด
นอกจากนี้ คนเราจะต้องมีวิสัยทัศน์ คือ หยั่งรู้กาลในอนาคต สามารถคิดได้ว่าจะมีอย่างนั้น อย่างนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่การคาดการณ์แต่เป็นการมองเห็นภาพที่เป็นจริงได้ตัวอย่างเช่น วันที่ถูกคลอดออกมา เติบโตขึ้น ก็จะประมาณได้ว่า จะเติบโตอย่างไร ต่อไปจะให้เรียนอะไรเรียนที่โรงเรียนไหน ถ้ามีปัญหาให้ลูกเรียนได้ก็จะเป็นอย่างนี้ ในที่สุดเขาก็จะแต่งงานมีครอบครัวไปเขาก็จะไปมีครอบครัวใหม่ ตัวเราก็เป็นปู่ย่าตาทวดไป การมองเห็นอย่างนี้ก็คือวิสัยทัศน์ ไม่ใช่เรื่องเหาะเหินเดินอากาศได้ ไม่ใช่คำทำนาย ทุกคนก็คิดอย่างนี้ ถ้าหากฐานะของเราไม่ดี ต่อไปกาลภายหน้าไม่มีค่าเล่าเรียนจะเป็นอย่างไร เขาสามารถทำงานอะไร ก็ต้องคิดเป็นวงจรไป เวลาคิด ก็ควรคิดเป็นวงจรให้ครบ ตั้งแต่วิสัยทัศน์ไปจนถึงวิสัยทำ จะต้องรู้จักวิธีการทำให้เกิดผล ต้องอดทนต้องมีวิสัยทน
อีกประการหนึ่ง จะต้องทนงตนในชาติพันธุ์ จึงจะค้ำจุนความรู้คู่คุณธรรมได้ คำว่า ทนงตนในชาติพันธุ์นี้ไม่ได้หมายความว่าให้หลงชาติ ไม่ได้หมายความว่าปลุกให้มีชาตินิยม อย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่รู้ว่าใครผิดใครถูกไม่ใช่ เพราะฉะนั้น อย่าไปดูถูกใคร ในขณะเดียวกันก็อย่าไปวิตก เพราะฝรั่งกับไทยจะคิดกันคนละแบบ คนไทยจะคิดเป็นเส้นวน พอกลับมาที่เก่าก็ไม่ออกไปไหนตามรอบกันอยู่อย่างนั้น หมุนกันอยู่อย่างนั้นเป็นวัฏจักรไปแต่ฝรั่งวางกรอบความคิดเป็นบล็อกทำอะไรจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ฉะนั้น จะต้องรู้ว่าเขาคิดอะไร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่าการจะคิดอะไรแล้วนั้น ก็ทำได้เหมือนกัน ฝรั่งขับรถทางขวา ไทยขับรถทางซ้าย แตกต่างกันตรงไหน ต่างกันตรงซ้ายกับขวา สิ่งที่ไม่แตกต่างกันคือความคิดเดียวกันที่ว่า ขับรถไม่ให้ชนกัน ชาติพันธุ์ของเราเป็นคนช่างคิดช่างค้นแต่เสียอย่างเดียวไม่คิดต่อยอด อย่างคิดบั้งไฟทำไมไม่ไปถึงอวกาศ
ในการคิดอะไรต่อมิอะไรทั้งหลายนั้นทำไมไม่คิดต่อยอดก็เพราะมองประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ การที่จะทนงตนในชาติพันธุ์นั้นคือ อยู่ในสังคมอย่างสันติสุขได้ โดยที่ไม่คิดว่าจะด้อยกว่าใคร แล้วไม่ต้องยกตนข่มท่านเพราะการเป็นครูกันคนละอย่าง จะเห็นได้ว่าเป็นข้อแก้กันไว้
ดังนั้น คนเราควรจะสำรวจตนเองว่า จะอยู่อย่างไรในสังคมนานาชาติได้อย่างสันติสุข ไทยเราจะอยู่อย่างไร คือ ฝรั่งคิดอย่างไรก็จะคิดอย่างนั้นไม่ใช่ ถ้าจะเอาอะไรไปขายเขาแต่ต้องรู้ว่าเขาคิดอย่างไร เช่น ถ้าจะทำกระเป๋าไปขายที่ประเทศฝรั่งเศส เราจะต้องรู้ว่าคนฝรั่งเศสใช้สีอะไร ฤดูไหนเขาใช้สีอะไร ฤดูไหนเขามีแนวคิดอะไร อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่าเขาคิดอะไร ต้องรู้เท่าทันเขาเมื่อรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ต้องเป็นอย่างเขาไหม ไม่จำเป็น ตะวันออกคือตะวันออก ตะวันตกคือตะวันตก คงจะเป็นเหมือนเขาไม่ได้ นอกจากเป็นไม่ได้แล้วในหลายเรื่อง ก็ต้องเรียนรู้ต่อไปว่า ในความเป็นไปไม่ได้นั้น ควรจะทำอะไรให้เป็นมรรคเป็นผลกับบ้านเมืองของเรา บ้านเมืองของเราจะอยู่อย่างไร ถ้าหากคนในระดับบัณฑิตไม่รู้จักรับผิดชอบ ไม่รู้จักสำนึกที่จะดูแลบ้านเมือง ถ้าคิดว่าหัวเราะเฮๆ ไปวันๆ สนุกสนานไปวันๆ คิดว่าจะได้รถรุ่นนั้น รุ่นนี้ ได้บ้านหลังนั้นหลังนี้ก็ไม่ไหว บ้านเมืองจะอยู่อย่างไรจะต้องคิด จึงจะช่วยกันรักษาบ้านเมืองไว้ได้
มหาวิทยาลัยได้กำหนดเพิ่มภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ “การผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้คู่คุณธรรม” ในปีการศึกษา 2543 ได้เริ่มให้มีการสอนวิชา “ความรู้คู่คุณธรรม” คือ RU100 และ RU600 เป็นวิชาบังคับที่ทุกคนจะต้องเรียนโดยไม่นับหน่วยกิตและไม่เก็บค่าหน่วยกิต สำหรับ นักศึกษาระดับปริญญาตรีและโทตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านคุณธรรม รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษานำไปประพฤติปฏิบัติ ด้วยเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจะช่วยปลูกฝังรากฐานจิตใจให้ดีงาม ช่วยเสริมให้บัณฑิตรามฯ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและมีคุณภาพของชาติต่อไป ให้สมกับความต้องการของมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มี “ความรู้คู่คุณธรรม” ผู้ซึ่งยึดหลักคุณธรรมนำชีวิตพร้อมอุทิศตนเพื่อประเทศชาติ ช่วยกันเสริมสร้างพัฒนาสังคมให้เข้มแข็ง และมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการช่วยนำพาชาติบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเจริญอย่างมั่นคง วัฒนาสถาพรและสันติสุขสืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น