วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

งบประมาณของรัฐบาล

งบประมาณของรัฐบาล รายรับคืออะไร
ใช้อย่างไรวิธีการงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ใช้อย่างไร (ให้ดูงบขาดดุล สมดุล เกินดุล ให้เราเขียนมาว่าใช้ตัวไหน) กรณีศึกษาเงินเฟ้อในขณะนี้มีเครื่องมืออะไร การแก้ไขในหลักการควรทำอย่างไร

แนวตอบ ความหมายของ “งบประมาณของรัฐบาล”

งบประมาณของรัฐบาล หมายถึงการแสดงรายการรับและรายการจ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในส่วนของรัฐบาลนั้น โดยพื้นฐานแล้วรายรับจะเกิดจากการเก็บภาษีและการกู้ยืม ส่วนรายจ่ายจะประกอบด้วยการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายต่าง ๆ ในตลาดผลผลิตและการใช้จ่ายในลักษณะเงินโอน การจัดทำงบประมาณจะจำแนกได้ 3 ลักษณะ
1.งบประมาณเกินดุล คือ การจัดทำงบประมาณในลักษณะที่มีการกำหนดรายรับสูงกว่ารายจ่าย เกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นช่วงที่ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวสูง รัฐบาลจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายอันเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจน้อยลง และในขณะเดียวกันก็จะเก็บภาษีให้มากกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการลดความสามารถในการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ลง
2.งบประมาณสมดุล คือ การจัดทำงบประมาณในลักษณะที่มีการกำหนดให้รายรับเท่ากับรายจ่าย เกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับค่าใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยปล่อยให้ให้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติขึ้นอยู่กับระดับการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจอื่น
3.งบประมาณขาดดุล คือ การจัดทำงบประมาณในลักษณะที่มีการกำหนดให้รายรับน้อยกว่ารายจ่าย และรัฐบาลจะต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลนั้น จะเกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ระบบเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง จึงต้องกระตุ้นให้มีการจ้างงาน การผลิตสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น การจัดงบประมาณขาดดุลจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็จะเก็บภาษีให้ต่ำกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายของภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ รายรับของรัฐบาล รายรับของรัฐบาล คือ รายได้ที่นำส่งคลังในแต่ละปีงบประมาณซึ่งประกอบด้วย รายได้จากภาษีอากร รายได้จากการขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น ๆ

รายรับของรัฐบาล จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ รายรับจากรายได้ และรายรับจากเงินกู้ ดังนี้คือ
1. รายรับจากรายได้ ได้แก่ รายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ รายได้อื่น ๆ
2. รายรับจากเงินกู้ ได้แก่ การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยใช้วิธีออกตั่วเงินคลัง พันธบัตร ตราสารอื่น หรือทำสัญญากู้

วิธีการใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล
รายจ่ายของรัฐบาล คือ รายจ่ายจริงจากเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณนั้น ๆ และรายจ่ายจากปีงบประมาณก่อน ๆ ซึ่งเป็นรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี
รายจ่ายของรัฐบาล อาจจำแนกโดยวิธีการนำไปใช้ เช่นการใช้จ่ายตามโครงสร้างแผนงาน ตามลักษณะงานและอื่น ๆ กล่าวคือ
รายจ่ายจำแนกตามโครงสร้างแผนงาน ได้แก่
1.การเกษตร
2.การอุตสาหกรรมและเหมืองแร่
3.การคมนาคมขนส่งและสื่อสาร
4.การพาณิชย์และท่องเที่ยว
5.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม
6.การศึกษา
7.การสาธารณสุข
8.การบริการสังคม
9.การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
10.การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน
11.การบริหารงานทั่วไปของรัฐ
12.การชำระหนี้เงินกู้
รายจ่ายจำแนกตามลักษณะงานและลักษณะเศรษฐกิจ เป็นการแสดงงบประมาณรายจ่าย ตามวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล จำแนกตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของรัฐบาลอย่างกว้างขวางอกกเป็นด้านต่าง ๆ 14 ด้าน ภายใต้ลักษณะงาน 4 ประเภท คือ
1.การบริหารทั่วไป
การบริหารทั่วไปของรัฐ
การป้องกันประเทศ
การรักษาความสงบภายใน
2.การบริการชุมชนและสังคม
การศึกษา
การสาธารณสุข
การสังคมสงเคราะห์
การเคหะและชุมชน
การศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ
3.การเศรษฐกิจ
การเชื้อเพลิงและพลังงาน
การเกษตร
การเหมืองแร่ ทรัพยากรธรณี การอุตสาหกรรมและการโยธา
การขนส่งและการสื่อสาร
การบริการเศรษฐกิจอื่น
4.การดำเนินงานอื่น ๆ
วิธีการใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล
วิธีการใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวโดยใช้วิธีการทางงบประมาณแบบ งบประมาณขาดดุล ตัวอย่างเช่น ในสมัยรัฐบาลของท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง จึงได้มีการกระตุ้นให้มีการจ้างงาน การผลิตสินค้าและบริการให้เพิ่มสูงขึ้น และได้มีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้นโดยเพิ่มเงินเดือนในรูปแบบเงินเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายและกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นต้น

กรณีศึกษาเงินเฟ้อในขณะนี้มีเครื่องมืออะไร การแก้ไขในหลักการควรทำอย่างไร
มาดูความหมายของเงินเฟ้อกันก่อน

เงินเฟ้อ คือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไปโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้เราไม่สามารถใช้เงินจำนวนเท่าเดิมในการซื้อสินค้าและบริการนั้นได้ หรืออาจจะซื้อได้แต่ในปริมาณที่น้อยลง ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป หมายถึง ราคาสินค้าและบริการหลายอย่างโดยเฉพาะสินค้าจำเป็นแก่การครองชีพ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าทุกชนิด เช่น ก๋วยเตี๊ยวเคยชามละ 20 บาท ก็เพิ่มมาเป็น 30 บาท หมายความว่าเงิน 1 หน่วย ซื้อสินค้าได้น้อยกว่าเดิมเป็นต้น
เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ความต้องการถือเงิน การสะสมทุน การคลังของรัฐบาล และการค้าระหว่างประเทศ การแก้ไขเงินเฟ้อ ทำได้โดยลดอุปสงค์มวลรวมลง ภาวะเงินเฟ้อสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนา ประเทศพัฒนา หรือประเทศอุตสาหกรรม ถ้าเป็นภาวะเงินเฟ้อแลอย่างอ่อน ๆ ย่อมเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างปานกลางและอย่างรุนแรงแล้ว ย่อมสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศชาติ การแก้ไขไม่สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแล้ว ประชาชนในประเทศจะต้องร่วมมือด้วย เพราะประเทศชาติเป็นเรื่องของคนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนในชาติควรร่วมมือช่วยกันแก้ไข 
เครื่องมือในการศึกษาเงินเฟ้อ
นักเศรษฐศาสตร์ได้หาทางคิดเครื่องมือบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้วัดภาวะเงินเฟ้อในภาพรวม ซึ่งเครื่องมือที่นักเศรษฐศาสตร์คิดว่าเหมาะสมที่สุดในการใช้วัดภาวะเงินเฟ้อ คือ “ค่าดัชนีราคา” โดยค่าดัชนีราคา หมายถึง ค่าทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการ และมีหน่วยวัดเป็นร้อยละ หรือ % เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่อย่างไร ก็ตาม ดัชนีที่ใช้วัดระดับราคาสินค้าก็มีมากมายหลายดัชนี เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ดัชนีราคาผู้บริโภครายได้น้อย ดัชนีราคาผู้บริโภคเขตชนบท ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัด และดัชนีราคาผู้ผลิต เป็นต้น
จะขออธิบายถึงความหมายของ “ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป” และ “ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน” อันเป็นดัชนีที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดและได้ยินกันอยู่เป็นประจำ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เป็นดัชนีที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นตัวแทนค่าเงินเฟ้อกลางในสังคมว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน ดัชนีนี้ใช้วัดค่าครองชีพของผู้บริโภค โดยแบ่งการบริโภคออกเป็นหมวดต่าง ๆ แล้วให้น้ำหนักเงินเฟ้อในแต่ละหมวดมาเฉลี่ยโดยถ่วงน้ำหนักตามความสำคัญของประเภทสินค้าในการดำรงชีวิต เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดเคหสถาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเป็นดัชนีที่คำนวณโดยวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคใช้เป็นประจำ
ดัชนีราคาผู้บริโภคพึ้นฐาน เป็นดัชนีมีการคำนวณคล้ายกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป แต่หักรายการสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงาน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวตามฤดูกาลออกไป ดัชนีนี้มีความสำคัญในแง่การใช้อ้างอิงในการวางกรอบนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะประกาศทุกต้นเดือน โดยกระทรวงพาณิชย์ และมีตัวเลข 2 ตัว ที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน และ ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ย ตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนจะเป็นการเปรียบเทียบเงินเฟ้อของเดือนนั้นเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนีเงินเฟ้อเฉลี่ยจะเป็นการเปรียบเทียบเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนล่าสุดที่รายงาน ตัวอย่างเช่น เดือนธันวาคมปี 2550 กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนธันวาคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 เท่ากับ 3.2% หมายความว่า ในเดือนธันวาคมปี 2550 ของแพงขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับระดับราคาในเดือนธันวาคม 2549 ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ยปี 2550 เท่ากับ 2.3% หมายความว่าเฉลี่ยทั้งปี ของแพงขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับระดับราคาในปี 2549 เป็นต้น

ขนาดของภาวะเงินเฟ้อ
1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน ( Mild Inflation ) ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการผลิตมากขึ้น เพราะราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้การจ้างงานขยายตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยังพอมีกำลังซื้อ
2. เงินเฟ้ออย่างปานกลาง ( Moderate Inflation ) ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นระหว่าง ร้อย 5 – 20 ต่อปี สินค้ามีราคาสูงขึ้นประชาขนได้รับความเดือดร้อน
3. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง ( Hyper Inflation ) ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงเกินร้อยละ 20 ภายใน 1 เดือน มักเกิดในภาวะสงคราม การจลาจล

สาเหตุของเงินเฟ้อ
1. ต้นทุนผลัก กล่าวคือต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้นเช่น ราคาน้ำมัน ค่าจ้างแรงงาน วัตถุดิบ
2. อุปสงค์ตึง กล่าวคือความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคมีมากกว่าจำนวนสินค้า หรืออุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ทำให้สินค้าขาดแคลน ราคาจึงสูง

ผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ
1.ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
2.ประชาชนไม่อยากเก็บเงินเพราะเกรงว่าค่าเงินจะลดลงเรื่อย ๆ
3.การบริการงานของรัฐบาลมีปัญหา เช่น การคอรัปชั่น

กลุ่มบุคคลเสียเปรียบ
1.ผู้มีรายได้ประจำ - สินค้ามีราคาแพง
2.ผู้มีเงินออม ค่าเงินลดลง
3.เจ้าหนี้ - ค่าเงินลดลง

กลุ่มบุคคลได้เปรียบ
1.ผู้ประกอบการ– สินค้ามีราคาสูงขึ้น
2.ลูกหนี้ - ค่าเงินลดลง
3.ผู้ถือหุ้น - สินค้าขายได้ราคาดี

การแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ คือการพยายามลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อลด อุปสงค์มวลรวมลง ทำได้โดย
1.นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินเข้าสูระบบเศรษฐกิจโดย
1.1 ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อประชาชนนำเงินมาฝากธนาคาร
1.2 ธนาคารแห่งประเทศไทยดำรงเงินสดของธนาคารพาณิชย์อัตราสูงกว่าปกติ
1.3 ธนาคารแห่งประเทศไทยขายพันธบัตรรัฐบาลให้แก่สถาบันการเงินหรือประชาชน
1.4 ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ลดแรงจูงใจในการลงทุนโดยรัฐบาล เพื่อลด อุปทานของเงิน
1.5 ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ใช้งบประมาณเกินดุล

2.นโยบายการคลัง
2.1 เก็บภาษีเงินได้เพิ่ม ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นการลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นการควบคุมการบริโภคของประชาชนโดยตรง
2.2 ควบคุมหนี้สาธารณะที่รัฐบาลเป็นผู้กู้ จากสถาบันการเงินในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งประชาชนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
2.3 เก็บรายได้ส่วนหนึ่งจากการส่งออกให้ออกไปเสียจากระบบเศรษฐกิจชั่วระยะเวลาหนึ่ง

3.นโยบายของรัฐบาล
3.1 รัฐบาลเข้าควบคุมระดับราคาสินค้าโดยตรง เช่นการเข้าควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ารถเมล์ เป็นต้น
3.2 เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าอย่างเสรีสำหรับสินค้าบางชนิดที่ขาดแคลน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น