วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การศึกษานโยบายโดยการวิเคราะห์

ปัจจัยที่จำเป็นในการวิเคราะห์นโยบายคือ
1. นโยบายต้องอาศัยข่าวสาร 3 ระดับ ได้แก่

1.1 Facts
ข้อเท็จจริง คือ การพิจารณาจากเหตุการณ์/สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ดูว่าปัญหาเกิดขึ้นกับใคร เช่น ในชุมชนเมืองต้องมีปัญหาขยะจำนวนมหาศาล ปัญหาโสเภณีเด็ก ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์นโยบายจะต้องทำความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและปัญหาเหล่านั้นต้องถูกนำไปแก้ไขโดยการกำหนดนโยบายสาธารณะขึ้นมา
1.2 Values
ค่านิยม เป็นการพิจารณาเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าปัญหานั้นเกิดจากค่านิยม ความเชื่อ รสนิยม วัฒธรรมใด เช่น ปัญหาขยะในชุมชนเกิดจากค่านิยมของคนในชุมชนเมืองที่รักความสะดวกสบายจึงเลือกใช้โฟมและถุงพลาสติกที่สุดท้ายก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาล หรือปัญหาโสเภณีเด็กเกิดจากค่านิยมของเด็กวัยรุ่นที่ชอบความสะดวกสบาย ชอบใช้ของฟุ่มเฟือย ราคาแพง
1.3 Actions
การปฏิบัติ จากข้อเท็จจริงและค่านิยมนำไปสู่การปฏิบัติคือการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จากปัญหาขยะในชุมชนการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาคือ รณรงค์ให้ประชาชนหิ้วถุงผ้าไปจ่ายตลาด นำปิ่นโตไปซื้ออาหาร รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ เพื่อทำให้ขยะโฟมและถุงพลาสติกลดน้อยลง                 ค่านิยม ความชอบ ความเชื่อบางเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการดำเนินงาน ดังนั้นการปฏิบัติใด ๆ ที่ขัดแย้งกับค่านิยมความเชื่อของชาวบ้านโอกาสที่จะประสบความสำเร็จย่อมมีน้อยลง ดังนั้นข้อมูลที่เป็นค่านิยมจะมองข้ามไปไม่ได้
2. ข่าวสารทั้งสามประเภทอาศัยวิธีการวิเคราะห์หลายวิธี ได้แก่
2.1
การพยากรณ์หรือการคาดคะเนแนวโน้มหรือเหตุการณ์ในอนาคต อาจใช้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ความน่าจะเป็นเข้าไปพยากรณ์
2.2
การพรรณนาหรือการอธิบายสิ่งที่ปรากฏ การพยากรณ์และการพรรณนาจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่าจากเหตุการณ์ที่ปรากฏขณะนี้เกิดเหตุการณ์อะไร เช่น ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ปัญหาเยาวชนติดสารเสพติด ก็อธิบายว่าปัญหานั้นเป็นอย่างไร พร้อมกันนั้นก็พยากรณ์ว่าถ้าหากการระบาดยังอยู่ในลักษณะเช่นนี้โดยปราศจากการแก้ไขจะนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไร
2.3
การประเมิน นำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นค่านิยม เช่น ประเมินทัศนคติ ประเมินค่านิยมของประชาชนว่ามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างไร
2.4
การเสนอแนะ ใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นการปฏิบัติ นั่นคือเป็นการเสนอแนะแนวทางในการปฏิบัติ เช่น พบสภาพความเป็นจริงประชาชนในชนบทห่างไกลมีปัญหาสุขภาพอนามัย เกิดจากธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรเรื่องการรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วยแทนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรค เมื่อประชาชนมีค่านิยมเช่นนี้ควรเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติ เช่น แนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ แนวทางสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ เป็นต้น ข้อเสนอแนะเหล่านี้ได้มาจากข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงและค่านิยมนั่นเอง
3.
การวิเคราะห์ข่าวสารทั้งสามประเภทต้องใช้เหตุผลเพื่อแปรสภาพสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย ข้อเท็จจริง ค่านิยม และการปฏิบัติจะถูกแปรสภาพออกมาเป็น Policy Argument (ข้อโต้แย้งนโยบาย ข้อมูลที่นำไปสู่ความมีเหตุมีผลเกี่ยวกับนโยบาย) เป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่
3.1
ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย (Policy Relevant Information: I) เป็นข้อมูลที่เป็นทั้งข้อเท็จจริงและค่านิยมที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การสร้างเหตุผลในการกำหนดนโยบาย หรืออาจเป็นข้อเท็จจริงและค่านิยมที่บรรยายปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชน เช่น ปัญหาเกษตรกรมีรายได้น้อย ไม่มีที่ดินทำกิน คุณภาพชีวิตไม่ดี ก็ต้องดูว่าการที่เกษตรกรมีปัญหาเหล่านี้เป็นผลมาจากอะไร การขาดที่ดินทำกินต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำได้เท่าไหร่ก็ต้องเอาไปจ่ายค่าเช่า ขาดแรงจูงใจในการบำรุงรักษาที่ดินเพราะไม่ใช่ของตัวเอง และนำไปสู่การบุกรุกป่าสงวนเพื่อหาที่ดินทำกิน นี่คือ Policy Relevant Information ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายออกมาเพื่อแก้ปัญหา
3.2 Policy Claim: C
ข้ออ้างนโยบาย เป็นทั้งข้อเท็จจริงและค่านิยมและอาจจะรวมถึงการปฏิบัติด้วยที่เป็นข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนช่วยให้เห็นความสำคัญในการกำหนดนโยบายนั้น ๆ ออกมา เช่น ปัญหาเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน ต้องรวบรวมตัวเลขออกมาให้ชัดเจนว่ามีเกษตรกรกี่แสนครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือเมื่อพูดถึงปัญหาการจราจรติดขัด Policy Claim เป็นผลสรุปจากการวิจัยว่าในหนึ่งชั่วโมงมียวดยานผ่านถนนเส้นนี้กี่คัน วินาทีละกี่คันเพื่อระบุถึงความหนาแน่นของถนนสายนี้ประกอบในการสร้างทางยกระดับ
3.3 Warrant: W
ข้อมูลที่เป็นหลักประกัน ได้มาจากการประเมินค่านิยม ความเชื่อ เป็นข้อมูลที่ไปสนับสนุน Policy Relevant Information ให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
3.4 Backing: B
ข้อสนับสนุน เห็นได้ว่าทั้ง C, W, B ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่ได้จากข้อเท็จจริง ค่านิยม เพื่อสนับสนุนการนำเสนอนโยบายนั้น ๆ ทั้งสิ้น ข้อสนับสนุนเป็นข้อมูลที่จะไปสนับสนุนให้ Warrant มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
3.5 Qualifier: Q
ข้อตรวจสอบ เป็นข้อมูลที่ไปยืนยันว่านโยบายที่นำเสนอนั้นมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้ว่าลงมือปฏิบัติแล้วจะประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ข้อมูลที่เป็นข้อตรวจสอบมักผ่านการวิเคราะห์มาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่ปรึกษาเพื่อทำให้ผู้อนุมัตินโยบายเกิดความเชื่อมั่นว่าหากอนุมัติไปแล้วจะไม่เกิดการสูญเปล่า ตั้งแต่ข้อ 3.1 – 3.5 จึงเป็นข้อมูลในเชิงบวกทั้งสิ้น โดยหลักการไม่ควรนำเสนอในทางบวกเท่านั้นควรเสนอข้อมูลในทางลบด้วย อาจเป็นปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องที่อาจเกิดขึ้นจากการกำหนดหรือดำเนินนโยบายนั้น ๆ
3.6 Rebuttal: R
ข้อโต้แย้ง อาจเป็นข้อเท็จจริงหรือค่านิยมของประชาชนที่นำไปสู่การคัดค้านนโยบายนั้น เช่น ประชาชนโต้แย้งว่าประตูระบายน้ำมาสร้างตรงนี้ไม่ได้เพราะเป็นกลางน้ำควรไปสร้างที่ต้นน้ำมากกว่า ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรหาทางแก้ไขข้อโต้แย้งนี้ด้วย
สรุป ข้อเท็จจริง
           ค่านิยม การปฏิบัติจะถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการพยากรณ์ พรรณนา ประเมิน และเสนอแนะเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เรียกว่า Policy Argument ทั้ง 6 ประเภท    ตัวอย่าง นโยบาย ตราดประตูสู่อินโดจีน
-Policy Relevant Information
คือ ตราดเป็นจังหวัดชายแดนในภาคตะวันออกของไทย มีพื้นที่ติดต่อกับกัมพูชาด้านจังหวัดพระตะบอง โพธิสัตว์ และเกาะกง เป็นศูนย์กลางด้านการค้าชายแดน และศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านตะวันออกของประเทศไทย I เปรียบเสมือนความสำคัญของปัญหา ความเป็นมาของโครงการ
-Policy Claim
เป็นข้อสรุปที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายนั้น คือ จังหวัดตราดได้จัดทำโครงการก่อสร้างถนน 4 เลน สาย 318 เพื่อเชื่อมกับถนนสาย 48 ในกัมพูชา ทำให้สามารถเดินทางจากตราดสู่กรุงพนมเปญ กัมพูชาได้ภายใน 4 ชั่วโมง
-Warrant
เป็นหลักประกันที่ชี้ให้เห็นว่าตราดมีโอกาสเป็นประตูสู่อินโดจีน คือ จังหวัดตราดมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกใช้เป็นท่าเรือเพื่อการส่งออกไปยังกัมพูชาและเวียดนาม มีสนามบินของบริษัทบางกอกแอร์เวย์มีเที่ยวบินกรุงเทพฯ ตราด ทุกวัน
-Backing
เป็นข้อมูลสนับสนุนนโยบาย คือ บริษัทบางกอกแอร์เวย์ได้สัมปทานการเข้าไปพัฒนาสนามบินในเกาะกง กัมพูชา หมายความว่าสามารถขยายเส้นทางบินต่อได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีโครงการพัฒนาเกาะช้างและเกาะกูดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
 -Rebuttal
คือ การก่อสร้างท่าเทียบเรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ข้อโต้แย้งนี้อาจถูกแก้ไขด้วยข้อมูลที่เป็น Qualifier ได้
-Qualifier
คือ ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญกำลังดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการก่อสร้างท่าเรืออยู่ สรุป Policy Argument ทั้ง 6 ประเภทคือข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ที่นำเสนอเพื่อสะท้อนภาพให้เห็นถึงความจำเป็น ความสำคัญ ที่มา เจตนารมณ์ ความเดือดร้อนของประชาชน มีข้อมูลและสถิติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน รวมทั้งผลเสีย ข้อโต้แย้ง และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้

4.
มุ่งผลิต/แปรสภาพข่าวสารนโยบาย เป็นการวิเคราะห์ลึกลงไปอีกว่า Policy Relevant Information ได้แก่
4.1 Policy Problems
ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหานโยบาย
4.2 Policy Alternatives / Policy Futures
ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกนโยบายหรืออนาคตนโยบาย
4.3 Policy Action
ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย
4.4 Policy Outcomes
ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์นโยบาย
4.5 Policy Performance
ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความสำเร็จของนโยบาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น