วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การประเมินนโยบายสาธารณะ สำคัญอย่างไร

        นโยบายสาธารณะเป็นแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาล  ในการเสริมสร้างชีวิต และความเป็นอยู่ ของประชาชน ให้มีคุณภาพอย่างเสมอภาคกัน  การดำเนินนโยบายสาธารณะนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่านโยบายสาธารณะนั้นเป็นผลผลิตทางการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นเครื่องมือ สำคัญในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ เมื่อนโยบายสาธารณะได้ถูกนำไปปฏิบัติแล้ว  ผลที่ปรากฏตามมา   ภายหลังอาจจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรืออาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์เลยก็เป็นได้  ซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมา หลายประการ เป็นต้นว่าความน่าเชื่อถือของรัฐบาล  เสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ ในอนาคตต่อไป
        ความสำเร็จของนโยบายสาธารณะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญหลายประการ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ (2543 : 32)  ได้กล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญ  4  ประการ ได้แก่ 
1.  การมีเป้าประสงค์หรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  นโยบายสาธารณะที่จะนำไปสู่ความสำเร็จจะต้องระบุเป้าประสงค์ให้ชัดเจน  เพื่อป้องกันมิให้เกิดความคลาดเคลื่อน ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ นโยบายสาธารณะใดก็ตามที่มีเป้าประสงค์ไม่ชัดเจนมีโอกาสที่จะประสบความล้มเหลวในการนำไปปฏิบัติสูง
2.  ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ นโยบายที่สำคัญจะต้องมีหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงและการนำนโยบายไปปฏิบัติจะต้องมีระบบหรือกลไกการควบคุม กำกับและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าการนำนโยบายไปปฏิบัติจะบรรลุเป้าประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
3.  ต้องมีงบประมาณสนับสนุนการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมนโยบายใดที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน นโยบายนั้นจะไม่มีโอกาสเป็นจริง จะเป็นได้แต่เพียงการแสดงความตั้งใจหรือการพูดที่ไม่มีการกระทำ  กรณีเช่นนี้ไม่เรียกว่าเป็นนโยบายสาธารณะ เพราะนโยบายสาธารณะ ในส่วนที่รัฐบาลเลือกจะกระทำ  ต้องกระทำให้เป็นรูปธรรมและปรากฏเป็นจริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเหมาะสมเท่านั้น
4.  ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน  การที่ประชาชนให้การสนับสนุนนโยบายใด  แสดงว่านโยบายนั้นสอดคล้องกับค่านิยมและความต้องการของประชาชน การสนับสนุนจากประชาชนจะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้การนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติบรรลุเป้าหมาย
        ดังนั้น  การประเมินผลนโยบายสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการ  เนื่องจากว่าเป็นการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ  เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ  การประเมินผลนโยบายของโครงการของรัฐ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อรัฐบาลและต่อประชาชนผู้รับบริการอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพราะการประเมินจะนำไปสู่การพัฒนาทางเลือกใหม่ๆ ตลอดจนนวัตกรรมที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศนั่นเอง
ความหมายและลักษณะของการประเมินนโยบาย
        ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึงนโยบายสาธารณะ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันว่าหมายถึงอะไร ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย  ดังนี้
        Ira  Sharkansky  ได้ให้ความหมายไว้ว่า  กิจกรรมที่กระทำโดยรัฐบาล  ถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะทั้งสิ้น  รวมทั้งข้อกำหนดและระเบียบในการควบคุมและกำกับการดำเนินกิจกรรมทั้งของบุคคลและนิติบุคคล ตลอดจนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ  เช่นการจัดการศึกษารัฐสวัสดิการ การโยธา การรักษาความสงบเรียบร้อย การควบคุมการจำหน่ายยาและอาหาร การคุ้มครองผู้บริโภค
        Thomas R.Dry  กล่าวว่านโยบายสาธารณะ คือสิ่งที่รัฐบาลเลือกจะกระทำหรือไม่กระทำ รวมทั้งการยกเลิกนโยบายบางอย่าง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลเลือกจะไม่กระทำ
        Jame E. Anderson  ให้ความหมายว่า นโยบายสาธารณะ คือ สิ่งที่หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พรรคการเมือง นักการเมือง องค์กรที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนานโยบายของรัฐ พัฒนาขึ้นเป็นแนวทางปฏิบัติ หรือแนวทางแก้ไขปัญหาของสังคม  ที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน เป็นสิ่งที่รัฐบาลลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ตั้งใจจะกระทำ พูด หรือตัดสินใจจะกระทำ
        David Easton กล่าวว่า นโยบายสาธารณะ คือสิ่งซึ่งเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะกระทำหรือไม่กระทำ  เป็นผลมาจากการจัดสรร โดยคำนึงถึงความสอดคล้อง กับค่านิยม ความเชื่อ ความต้องการ ของประชาชนในสังคมและผลประโยชน์ของประชาชน
        Carl J. Friedrich  กล่าวว่า นโยบายสาธารณะ คือชุดของข้อเสนอเพื่อการกระทำเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน ซึ่งต้องประกอบด้วย เป้าประสงค์ (Goal) วัตถุประสงค์ ( Objective) หรือจุดมุ่งหมาย (Purpose) ที่ต้องการบรรลุอย่างชัดเจนของสิ่งที่รัฐบาลกระทำ
        Horold D. Lasswell  and Abraham Kaplan  ได้ให้ความหมายไว้ว่า  นโยบายสาธารณะ หมายถึง  กิจกรรมหรือโครงการของรัฐบาล ที่มีการกำหนดเป้าประสงค์ (Goals) ค่านิยม ( Values) และการปฏิบัติ (Practices) ของโครงการของรัฐที่ชัดเจน
        ทศพร  ศิริสัมพันธ์  (2546:3)   ได้สรุปว่า  นโยบายสาธารณะ คือ นโยบายที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐบาล  ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรหรือตัวบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายภายใต้ระบบการเมืองนั้นๆ  ทั้งนี้  นโยบายสาธารณะจะครอบคลุมตั้งแต่สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจว่าจะกระทำหรือไม่กระทำ  การตัดสินใจของรัฐบาลในการแบ่งสรรทรัพยากรหรือคุณค่าต่างๆ ในสังคม  กิจกรรมหรือการกระทำต่างๆของรัฐบาล  รวมจนถึงผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง  อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นติดตามมาจากการดำเนินงานของรัฐบาล
        ศุภชัย  ยาวะประภาษ  (2548:2)  ได้นิยามนโยบายสาธารณะว่า  เป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมของรัฐบาล  ซึ่งรวมทั้งกิจกรรมที่ผ่านมาในอดีต  กิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และกิจกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
        รุ่งเรือง  สุขาภิรมย์  (2543:16)  ได้สรุปความหมายของนโยบายสาธารณะว่าเป็นนโยบายที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรหรือตัวบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ของรัฐ  ซึ่งมีลักษณะสำคัญ  3 ประการ คือ (1)  แสดงถึงแนวทางการดำเนินงานที่รัฐตั้งใจ  (2)  เป็นการกำหนดขึ้นล่วงหน้า  (3)  เป็นการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์
        ดังนั้นนโยบายสาธารณะจึงหมายถึง  นโยบายที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐบาล  ครอบคลุมตั้งแต่สิ่งที่รัฐบาลตั้งใจว่าจะกระทำหรือไม่กระทำ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน  จนถึงผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง  โดยที่มีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดและดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวมของประเทศ
        สำหรับการประเมินนโยบายนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
        Dye (1967 : 344  อ้างถึงในจุมพล  หนิมพานิช)ให้ความหมายว่าการประเมินนโยบาย หมายถึง  การเรียนรู้เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากนโยบายสาธารณะ
        Dunn ( 1981 : 339 อ้างถึงในจุมพล  หนิมพานิช)  กล่าวว่าการประเมินนโยบาย  หมายถึงขั้นตอนหนึ่งของการวิเคราะห์นโยบาย โดยเป็นขั้นตอนที่มุ่งผลิตข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผลของ การดำเนินงานตามนโยบายว่าสามารถตอบสนองความต้องการของสังคม สนองคุณค่าของสังคม และแก้ไขปัญหาที่เป็นเป้าหมายของนโยบายได้หรือไม่
        Jones (1970  อ้างถึงในจุมพล  หนิมพานิช) กล่าวว่าการประเมินนโยบาย หมายถึง การกระทำ  ที่มีระบบและต่อเนื่องเพื่อให้ทราบถึงผลของนโยบายโดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ กับผลกระทบของการดำเนินการตามนโยบายที่มีต่อปัญหาของสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นโยบาย
Andersons (อ้างถึงในจุมพล  หนิมพานิช) กล่าวว่า การประเมินผลนโยบาย หมายถึง กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการประมาการณ์การเปรียบเทียบผลของการนำนโยบายไปปฏิบัติกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมทีกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
        การประเมินนโยบาย คือ ขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการนโยบาย ซึ่งจะให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบาย หรือ ผลการดำเนินการตามนโยบายว่า ตอบสนองความต้องการ หรือ มีคุณค่าหรือไม่เพียงใด
ลักษณะของการประเมินนโยบาย
1.  ต้องมีลักษณะเป็นสหวิทยากร  นั่นคือการนำความรู้จากศาสตร์หลายสาขามาประยุกต์ใช้ ช่วยให้เข้าใจว่าลักษณะและคุณค่าของผลการดำเนินการได้เป็นอย่างดี
2.  การประเมินผลต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ประเมินและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ นั่นคือ การยอมรับทั้งวิธีการ เป้าหมายและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา
3.  การประเมินผลต้องนำเอายุทธศาสตร์ต่างๆ มาผสมผสานกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเข้าใจผลของนโยบายที่ชัดเจน
4.  การประเมินผลต้องกระทำอย่างเป็นกลาง  เช่น การประเมินผลนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังจากที่บริหารงานไปแล้วระยะหนึ่ง  รัฐบาลต้องการดูว่านโยบายนั้นสนองความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ หรือไม่ ผู้ประเมินต้องประเมินไปตามหลักวิชาการของการประเมินผล
5.  การรวบรวมข้อมูลควรต้องเน้นการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลในหน่วยงานมากกว่าระหว่างหน่วยงานด้วยกันเอง
6.  การประเมินต้องยืดหยุ่นพอที่จะยอมรับระเบียบวิธีการศึกษา ทั้งวิธีเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผลการประเมินมีน้ำหนัก มีคุณค่าในแง่ของความเที่ยงตรง ความน่าเชื่อถือได้  (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ : 32)
 จุดมุ่งหมายของการประเมินผลนโยบาย
1.  เพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินผล  โดยเฉพาะการประเมินผลที่เน้นการทดสอบเชิงทฤษฎี (theory orientation) โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในตัวแบบการประเมินผล
2.   เพื่อทดสอบสมมติฐานทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทดสอบหลักการปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐาน จุดมุ่งหมายในประเด็นนี้มุ่งการทดสอบเชิงทฤษฎี เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการประเมินผลต่อไป
3.  เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทำให้ทราบว่าองค์การที่รับผิดชอบนำนโยบายไปปฏิบัติมรสมรรถภาพในการบริหารและการจัดการมากน้อยเพียงใด
4.  เพื่อปรับปรุงแผนงาน  การประเมินผลทำให้ทราบว่าแผนงานที่กำหนดขึ้นมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นการช่วยชี้แนะส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจน ทั้งวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการปฏิบัติ ทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5.  เพื่อประเมินความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโครงการ เช่น การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หรือแนวทางการปฏิบัติบางส่วน  หรือการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานที่รับผิดชอบการนำโครงการไปปฏิบัติ  เป็นต้น
6.  เพื่อระบุแนวทางที่จะปรับปรุงมาตรการที่จะนำไปใช้ให้เหมาะสม ต่อการนำไปปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น
7.  เพื่อความกระจ่างชัดของแผนงาน การประเมินผลเริ่มต้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแผนงานจนกระทั่งจุดสุดท้าย ทำให้เราทราบว่ามาตรการหรือกิจกรรมใดที่บกพร่องอยู่บ้าง เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ขจัดปัญหาอุปสรรคแต่ละขั้นตอนให้หมดไป
8.  เพื่อการพัฒนาแผนงาน ซึ่งทำให้เราทราบว่าแผนงานที่นำไปปฏิบัติมีจุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อน (Weaknesses)อะไรบ้าง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างครบถ้วนนำไปสู่การพัฒนาแผนงาน  ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
9.  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน การประเมินผลโครงการนั้น มีผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน  2  ส่วนคือ ผู้ให้การสนับสนุนการนำโครงการไปปฏิบัติและผู้ให้การสนับสนุนการประเมินผล ซึ่งต้องการทราบว่าการนำนโยบายไปปฏิบัติบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด มีปัญหาอุปสรรคที่ต้องแก้ไขหรือไม่
10.  เพื่อทดสอบความคิดริเริ่มใหม่ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ว่าได้ผลเพียงใดและต้องปรับปรุงส่วนใดบ้าง
11.  เพื่อตัดสินใจที่จะขยายโครงการหรือยุติโครงการ หรือให้การสนับสนุนโครงการหนึ่งแต่ยกเลิกอีกโครงการหนึ่ง หรือในกรณีที่มีโครงการในลักษณะที่แข่งขันกัน  การประเมินผลทำให้ทราบว่าโครงการใดมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของสาธารณชน โครงการที่ไม่ประสบผลสำเร็จหรือให้ผลตอบแทนน้อยกว่าก็ควรยกเลิก
12.  เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมีเหตุผล การประเมินผลเป็นการใช้ระเบียบวิธีวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นระบบ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนว่ามีความเหมาะสมที่จะดำเนินการต่อไป เพราะผลการประเมินจะสนับสนุนว่าเป็นโครงการที่ดีอย่างแท้จริง (สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ : 494)
กระบวนการประเมินผลนโยบาย
        James E. Anderson  (อ้างถึงใน จุมพล  หนิมพานิช : 248) ได้กล่าวถึงกระบวนการประเมินนโยบายในหนังสือ Public Policy-making  ว่าเป็นเรื่องของบุคคล  องค์การ สถาบันทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐและทั้งที่ไม่ใช่ของรัฐ คือ การประเมินผลนโยบายส่วนใหญ่ เป็นการดำเนินการโดยองค์การสถาบันที่ไม่ใช่ของรัฐ คือ สื่อมวลชน มหาวิทยาลัย  นักวิชาการ ศูนย์วิจัย กลุ่มผลประโยชน์และองค์การมหาชน  เป็นต้น  สถาบันเหล่านี้ทำการประเมินผลด้วยความอิสระ และวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ในประเทศไทยนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ   ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
        Charles  Jones  (อ้างถึงใน จุมพล  หนิมพานิช : 249)  พูดถึงกระบวนการนโยบาย ที่หมายถึงขั้นตอนต่างๆ  3  ขั้นตอนได้แก่
        ขั้นตอนที่  1  การกำหนดรายละเอียด (Specification) ว่าจะประเมินอะไร  การกำหนดรายละเอียดของนโยบายที่จะประเมิน ช่วยให้เราทราบเป้าหมายในการประเมินโดยแน่ชัด  และทราบประเด็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประเมินนโยบาย
        แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการประเมินนโยบายมักจะไม่ได้กำหนดรายละเอียดการประเมิน เนื่องจากเป็นการประเมินตามข้อกำหนดกฎหมาย จึงไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในด้านต่าง ๆ  โดยเฉพาะการพยายามหลีกเลี่ยงการเพิ่มงานโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและความถูกต้องของการประเมินค่า
        ขั้นตอนที่  การวัดผล (Measurement)  จะกระทำได้ต้องเก็บข้อมูลจากสิ่งที่ต้องการประเมิน  การเก็บข้อมูลต้องเก็บอย่างมีระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ  การเก็บข้อมูลถ้ามีหลักเกณฑ์มากเพียงไรย่อมทำให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องเที่ยงตรงและเชื่อถือได้มากขึ้นเพียงนั้น
        ขั้นตอนที่  3  การวิเคราะห์  ( Analysis) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาหรือวัดผลออกมาแล้วรูปแบบและวิธีการวิเคราะห์ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เชิงปริมาณที่มีความแน่นอนสูง  เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์  ไปจนกระทั่งการใช้ความประทับใจหรือใช้ประสบการณ์  จุดมุ่งหมายของ  การวิเคราะห์เพื่อให้สามารถจัดทำข้อสรุปได้ว่า ประสิทธิผลของนโยบายเป็นอย่างไร เพื่อจะให้ตัดสินคุณค่าของนโยบายซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการประเมินนโยบาย
        เนื่องจากกระบวนการประเมินนโยบาย  ไม่ควรยึดถือวิธีใดวิธีหนึ่งว่าดีที่สุด หรือเป็นวิธีการที่ควรนำมาปฏิบัติตลอดไป  การประเมินนโยบายถ้าพิจารณาโดยสรุปก็คือ การตัดสินว่านโยบายนั้นมีความดีหรือมีคุณค่าเพียงใด  จะต้องดำเนินการอาศัยการดำเนินการและการวิเคราะห์หลายๆ รูปแบบเพื่อช่วยให้การประเมินนโยบายมีคุณภาพมีคุณภาพมากที่สุด
 บทสรุป
        การประเมินนโยบายเป็นการหาคำตอบที่สำคัญ  2  คำตอบคือ
1)  อะไรคือผลของนโยบายที่ตามมา  นั่นก็คือการพรรณนาอธิบายถึงผลกระทบ 
2) การตัดสินความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายตามที่ได้ตั้งกฎเกณฑ์มาตรฐานตามคุณค่าเอาไว้
        ดังนั้น การวิพากษ์รัฐบาลหรือการประเมินนโยบายควรมีหลักฐานงานวิจัยรองรับ เพื่อช่วยหาทางออกในการแก้ปัญหาที่มีความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาล อันเป็นการช่วยตรวจสอบการทำงาน ของรัฐบาลอีกทางหนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าการวิพากษ์โดยปราศจากหลักฐานรองรับ  การประเมินผลนโยบายจึงเป็นการออกแบบและการนำผลการประเมินไปเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าไม่ว่าผู้ใดจะนำไปตรวจอีกก็จะยืนยันผลการประเมินทำนองเดียวกัน รวมทั้งเป็นการยืนยันว่านโยบายที่รัฐบาลดำเนินการนั้นมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร  มีความคุ้มค่า กับการลงทุนของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่

4 ความคิดเห็น: