วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

PA 715 (ตัวแบบของนโยบายสาธารณะ)

ตัวแบบของนโยบายสาธารณะ
---------------------------------------
1.
ตัวแบบชนชั้นนำ (Elite Model)
ให้ความสำคัญกับบทบาทหรืออิทธิพลของชนชั้นหรือชนชั้นปกครองที่มีอำนาจการตัดสินใจนโยบายสาธารณะอย่างเด็ดขาด ชนชั้นปกครองจะยึดถือความพึงพอใจหรือค่านิยมของตนเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจนโยบาย โดยประชาชนไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ซึ่งแสดงให้เห็นดังแผนภาพต่อไปนี้
 
ตัวอย่างนโยบาย เช่น นโยบายการเปิดเสรีทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511
2. ตัวแบบดุลยภาพระหว่างกลุ่ม (Group Equilibrium Model)
ผู้กำหนดนโยบายจะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ที่ตอบสนองต่อความกดดันของกลุ่ม ได้แก่ การต่อรอง (Bargaining) การประนีประนอม (Compromising) ระหว่างความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มอิทธิพลและผลประโยชน์นักการเมืองจะพยายามที่จะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเสียงข้างมากเพื่อให้การประนีประนอมประสบผลสำเร็จโดยง่าย ซึ่งแสดงให้เห็นดังแผนภาพต่อไปนี้
ตัวอย่างนโยบายได้แก่
-
พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
-
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
ตัวอย่างนโยบาย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนผลสะท้อนกลับ คือ มาตรการปราบปรามผู้ละเมิดกฎหมาย
3.
ตัวแบบสถาบัน (Institutional Model)
- ฐานคติที่สำคัญคือ นโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ สถาบันการปกครองท้องถิ่น และสถาบันพรรคการเมือง
- นโยบายจะไม่มีผลเป็นนโยบายสาธารณะ จนกว่านโยบายนั้นจะได้รับความเห็นชอบ ถูกนำไปปฏิบัติ และใช้บังคับโดยสถาบันราชการที่รับผิดชอบ
- สถาบันราชการมีบทบาทในการกำหนดคุณลักษณะของนโยบายสาธารณะ 3 ประการ ได้แก่

1.
สถาบันราชการเป็นผู้รับรองความชอบธรรมของนโยบาย
2.
นโยบายสาธารณะมีลักษณะของความครอบคลุมทั้งสังคม
3.
รัฐบาลเท่านั้นที่เป็นผู้ผูกขาดอำนาจการบังคับใช้ในสังคม
- สถาบันทางการเมืองมีบทบาทในการกำหนดแบบแผน โครงสร้าง พฤติกรรมของปัจเจกบุคคล และกลุ่มบุคคล และแบบแผนดังกล่าวจะดำรงอยู่อย่างมั่นคง
- โครงสร้างของสถาบันการเมือง การจัดระเบียบในสถาบัน และขั้นตอนการดำเนินการต่างๆของสถาบันทางการเมือง จะมีผลต่อเนื่องต่อการกำหนดนโยบายและเนื้อหาสาระของนโยบายสาธารณะ
ตัวอย่างนโยบาย ที่เป็นผลผลิตของสถาบันบริหาร ได้แก่
1)
นโยบายการปรับลดบทบาทของรัฐจากการเป็นผู้ดำเนินการมาเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ กำกับ ดูแล
2)
นโยบายการปฏิรูประบบราชการ
3)
นโยบายการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น
4)
นโยบายการเงินการคลัง
5)
นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม
6)
นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว

-
การกำหนดนโยบายของสถาบันต่างๆนั้น ทุกสถาบันจะมีกรอบการปฏิบัติของตนเอง ดังนั้นในการวิเคราะห์นโยบาย จึงต้องไห้ความสนใจต่อกระบวนการในการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบของแต่ละสถาบันด้วย
4. ตัวแบบกระบวนการ (Process Model)
- ฐานคติที่สำคัญคือ นโยบายเป็นผลลัพธ์ของกิจกรรมทางการเมือง โดยถือว่า กระบวนการและพฤติกรรมทางการเมือง คือ ศูนย์กลางของการศึกษานโยบาย
- นโยบายสาธารณะส่วนใหญ่ถูกกำหนดและนำไปปฏิบัติภายใต้กรอบความคิดตัวแบบกระบวนการทั้งสิ้น แต่จะมีความครอบคลุมแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของสังคม
- ชุดของกระบวนการนโยบายสาธารณะแบ่งเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
1) การจำแนกลักษณะปัญหา
2)
การจัดทำทางเลือกนโยบาย
3)
การให้ความเห็นชอบนโยบาย
4)
การนำนโยบายไปปฏิบัติ
5)
การประเมินผลนโยบาย
ตัวอย่าง เช่น นายก ญี่ปุ่น ประกาศยุบสภา จากการไม่ผ่านกฎหมายการแปรรูปการไปรษณีย์

 
5. ตัวแบบหลักเหตุผล (Rational Model)
ตัวแบบเหตุผล คือ ตัวแบบในการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะในฐานะที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดทางสังคม
นโยบายที่ยึดหลักเหตุผล คือ นโยบายที่มุ่งผลประโยชน์สูงสุดทางสังคม ดังนั้นรัฐบาลควรยกเลิกหรือ หลีกเลี่ยงการใช้นโยบายที่มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าตอบแทน
ลักษณะสำคัญของผลประโยชน์สูงสุดทางสังคม ได้แก่
1)
จะไม่มีการใช้นโยบายที่ต้นทุนสูงกว่าผลประโยชน์
2)
ในระหว่างทางเลือกนโยบายทั้งหมดที่มีอยู่ ผู้ตัดสินใจนโยบายควรเลือกนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อต้นทุนสูงสุด
ภายใต้กรอบความคิดของตัวแบบหลักเหตุผล นโยบายสาธารณะจะมีลักษณะของหลักการเหตุผลก็ต่อเมื่อ ความแตกต่างระหว่างคุณค่าที่บรรลุและคุณค่าที่ต้องเสียไป มีค่าเป็นบวก และมีค่ามากกว่าทางเลือกนโยบายอื่น
ในการเลือกนโยบายโดยยึดหลักเหตุผล ผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้

1)
จะต้องเข้าใจคุณค่าที่พึงปรารถนาของสังคมทั้งหมด
2)
จะต้องเข้าใจทางเลือกนโยบายที่เป็นไปได้ทั้งหมด
3)
จะต้องเข้าใจผลลัพธ์ทั้งหมดของทางเลือกนโยบาย แต่ละทางเลือก
4)
สามารถคำนวณสัดส่วนระหว่างผลประโยชน์และต้นทุนของทางเลือกนโยบายแต่ละทางเลือกได้
5)
ผู้ตัดสินใจนโยบายจะต้องพิจารณาเลือกทางเลือกนโยบายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ตัวแบบเหล่านี้เป็นตัวแบบที่ง่ายและชัดเจนที่จะทำความเข้าใจทั้งระบบการเมืองและนโยบายสาธารณะ ได้แก่

           
1. ตัวแบบสถาบัน (Institutional Model) ดายมองว่านโยบายเป็นผลผลิตของสถาบัน หมายความว่านโยบายสาธารณะถูกกำหนดขึ้นจากสถาบันหลักของรัฐ ผู้วิเคราะห์ต้องทำความเข้าใจว่าในประเทศนั้น ๆ มีสถาบันใดบ้างเป็นสถาบันหลัก สถาบันเหล่านี้มีหน้าที่อย่างไร อย่างในสหรัฐอเมริกาที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี สถาบันสำคัญมีสามฝ่ายคือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ การศึกษาจากตัวแบบนี้จะดูว่าสถาบันของทั้งสามฝ่ายมีบทบาทเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะอย่างไร มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างไร

             
การนำตัวแบบสถาบันไปวิเคราะห์นโยบายสาธารณะใดก็ตามต้องหาคำตอบให้ได้ว่านโยบายนั้นมีสถาบันใดเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย สถาบันใดรับผิดชอบนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติ สถาบันใดทำหน้าที่บังคับใช้นโยบายในสังคม เช่น สภาผู้แทนราษฎรออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการนำนโยบายไปปฏิบัติคือกรมการขนส่ง กรมการประกันภัย หน่วยงานที่บังคับใช้คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

             
2. ตัวแบบกระบวนการ (Process Model)  มองว่านโยบายสาธารณะเป็นกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากในทุก ๆ ขั้นตอนของกระบวนการนโยบายจะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ กระบวนการนโยบายสาธารณะประกอบไปด้วยขั้นตอนสำคัญ 6 ขั้นตอนคือ

             -
การระบุปัญหา เป็นการศึกษาว่าในขณะนี้ประชาชนประสบปัญหามีความเดือดร้อนเรื่องอะไร บางครั้งข้าราชการประจำจะทำหน้าที่ในส่วนนี้ ลงพื้นที่เพื่อดูว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องอะไรบ้าง
             -
การกำหนดเป็นวาระสำหรับการตัดสินใจ ในความเป็นจริงปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนมีมากมาย เมื่อปัญหาหนึ่งได้รับการแก้ไขปัญหาหนึ่งก็เกิดขึ้นตามมา และในบรรดาปัญหาหลากหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันจำเป็นเร่งด่วนพอ ๆ กัน แต่งบประมาณในการแก้ไขปัญหามีจำกัดจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ในขั้นนี้การเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง
             -
การกำหนดข้อเสนอนโยบาย เมื่อปัญหาได้รับการยอมรับจะถูกนำมาพิจารณาว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาได้กี่แนวทาง เรียกว่าข้อเสนอ/ทางเลือกนโยบายที่มีอยู่หลายทางเลือก โดยหลักการแล้วจะต้องวิเคราะห์แต่ละทางเลือกว่ามีประโยชน์อย่างไร
             -
การอนุมัตินโยบาย ทางเลือก/ข้อเสนอนโยบายที่ให้ประโยชน์สูงสุดจะถูกอนุมัติออกมาเป็นนโยบาย การที่ทางเลือก/ข้อเสนอใดจะได้รับเลือกย่อมมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
             -
การดำเนินนโยบาย นโยบายที่ได้รับการอนุมัติจะถูกนำไปปฏิบัติ มีส่วนราชการและข้าราชการประจำเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเราพบความจริงเสมอว่าในขั้นนี้หลายครั้งที่ข้าราชการการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำที่เรียกกันว่าล้วงลูก
             -
การประเมินผลนโยบาย เมื่อดำเนินนโยบายแล้วเสร็จต้องประเมินผลนโยบายเพื่อจะรับทราบว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจต่อไปว่านโยบายนั้น ๆ ควรได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร หรือควรยุติแล้วกำหนดนโยบายอื่นออกมาก ขั้นนี้การเมืองก็เข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซง เช่น ให้ประเมินผลออกมาในทางบวกว่าประชาชนพึงพอใจมากที่สุด

             
ด้วยเหตุนี้โธมัส ดาย จึงมองว่านโยบายสาธารณะเป็นกิจกรรมทางการเมือง ในกระบวนการนโยบายทุกขั้นตอนมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ถ้านักศึกษาจะนำตัวแบบกระบวนการไปวิเคราะห์นโยบายสาธารณะต้องพิจารณาว่าในกระบวนการนโยบายแต่ละขั้นตอนมีการดำเนินการใด การเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวในลักษณะใด

             
3. ตัวแบบกลุ่ม (Group Model)  มองว่า นโยบายสาธารณะคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงดุลยภาพระหว่างกลุ่ม ในสังคมมีกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความต้องการหลากหลาย ผู้กำหนดนโยบายพยายามประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่บางครั้งกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีพลังการต่อรองมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทำให้นโยบายสาธารณะถูกกำหนดมาเอนเอียงไปหาผลประโยชน์ของกลุ่มนั้น ลองนึกภาพแม่ค้าใช้คานหาบของ ถ้าตะกร้าสองใบหนักไม่เท่ากันตัวแม่ค้าจะต้องเข้าใกล้ตะกร้าใบที่หนักกว่าเพื่อน้ำหนักจะได้สมดุล นโยบายสาธารณะก็เช่นเดียวกันที่ต้องเอนเอียงไปหาผลประโยชน์ของกลุ่มที่มีพลังต่อรองมากกว่า เช่น กลุ่มนายทุนเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างที่จอดรถกลางเมือง ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างสวนสาธารณะ กลุ่มนายทุนมีอิทธิพลมากกว่ากลุ่มอนุรักษ์รัฐบาลก็ต้องสร้างที่จอดรถ แต่ถ้าเหตุการณ์เปลี่ยนกลุ่มอนุรักษ์มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเท่า ๆ กับกลุ่มนายทุนรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนนโยบายเพื่อประสานประโยชน์ทั้งสองกลุ่มให้ได้ เช่น บนดินเป็นสวนสาธารณะใต้ดินเป็นที่จอดรถ เกิดความสมดุลระหว่างกลุ่ม (Group Equilibrium)

             
ถ้านักศึกษานำตัวแบบกลุ่มไปวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ จะต้องสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่านโยบายนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม และนโยบายที่ออกมานั้นชี้ให้เห็นว่ากลุ่มใดที่มีอิทธิพลมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น พาดหัวข่าว ห้ามยักษ์ค้าปลีกรุกชุมชน โชห่วยลั่น 15 วันต้องแก้เป็นการขัดแย้งกันในผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มค้าปลีกกับกลุ่มโชห่วย ต้องดูว่ารัฐบาลตัดสินใจออกมาในลักษณะใด เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดมากกว่า

             
4. ตัวแบบผู้นำ (Elite Model)  มองว่า นโยบายสาธารณะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการหรือรสนิยมของผู้นำ (ไม่ใช่ความต้องการของประชาชน) ผู้นำ (Elite) เป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ในสังคมที่มีอำนาจทางการเมือง แต่ประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กลับไม่มีอำนาจทางการเมือง ดังนั้นผู้นำจะกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์หรือตอบสนองความต้องการของผู้นำแล้วสั่งการลงมาสู่ข้าราชการให้ทำหน้าที่นำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผล ผลของการดำเนินนโยบายจะตกอยู่กับประชาชนในลักษณะของ Top Down โดยประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมใด ๆ เลย เช่น ภาพยนตร์ไทยเรื่องโหมโรงสะท้อนให้เห็นการกำหนดนโยบายตามตัวแบบผู้นำ เมื่อผู้นำทางการเมืองห้ามการเล่นดนตรีไทย ห้ามแสดงลิเกในที่สาธารณะ แต่ประชาชนอยากจึงแสดงกันแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ นโยบายนี้จึงไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนเป็นเพียงความต้องการของผู้นำเท่านั้น

             
นโยบายที่กำหนดออกมาจากความต้องการของผู้นำฝ่ายเดียวไม่สนใจความต้องการของประชาชนจะทำให้นโยบายนั้นถูกต่อต้านเป็นระยะ ๆ เช่น โครงการท่อก๊าซ หรือการก่อสร้างประตูระบายน้ำลำน้ำปิงที่คัดค้านกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว นโยบายนี้เกิดจากการประชุมรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่เชียงใหม่แล้วที่ประชุมยกปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่ขึ้นมา พื้นที่ที่จะก่อสร้างเป็นพื้นที่ของเมืองโบราณเวียงกุมกามที่กำลังเสนอให้เป็นมรดกโลก ถ้าดำเนินการก่อสร้างก็จะไปขัดกับ พ.ร.บ.โบราณสถาน แต่ ครม.กลับอนุมัติโครงการออกมาโดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเลย แถมมีเบื้องลึกว่ามีนักธุรกิจสร้างรีสอร์ทอยู่ต้นน้ำ การมีฝายกั้นน้ำเป็นระยะ ๆ ทำให้เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวไปถึงรีสอร์ทไม่สะดวกจำต้องรื้อฝาย

             
5. ตัวแบบมีเหตุผล (Rational Model)  มองว่า นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวม นโยบายสาธารณะใด ๆ ก็ตามที่ถูกกำหนดขึ้นมาต้องเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทุกกลุ่มในสังคม
 
ในขั้นตอนตัดสินใจกำหนดนโยบายตามตัวแบบมีเหตุมีผลต้องผ่านขั้นตอนอย่างละเอียด ดังนี้

             1)
ปัจจัยนำเข้าที่ใช้ประกอบในการตัดสินใจ ผู้ตัดสินใจต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรทั้งหมด ต้องรู้ว่ามีทรัพยากรทั้งหมดมีจำนวนเท่าไหร่ เป็นประเภทใดบ้าง ต้องมีข้อมูลครบถ้วนทุกประเภท อย่างนักศึกษาตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคันเบื้องต้นต้องรู้ว่าตัวเองมีเงินเท่าไหร่ รวมเงินบำรุงรักษารถยนต์ตลอดอายุการใช้งานด้วย มีข้อมูลรถยนต์ที่ต้องการจะซื้อตามสเป็ก หาข้อมูลให้ครบทุกยี่ห้อ
             2)
ในกระบวนการตัดสินใจต้องกำหนดเป้าหมายที่สมบูรณ์ในการดำเนินงาน ต้องรู้ว่าประชาชนมีปัญหาอะไรบ้างต้องรู้ครบทุกปัญหา การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง และต้องให้ค่าน้ำหนักเพื่อจะทราบว่าปัญหาใดมีความสำคัญมากน้อยกว่ากันอย่างไร ขั้นตอนนี้ถือเป็นความยากที่จะรู้ปัญหาของประชาชนทุกปัญหา ยิ่งการให้ค่าน้ำหนักยิ่งยากที่จะบอกว่าปัญหาใดสำคัญกว่ากัน ปัญหาหนึ่ง ๆ จะสำคัญแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

             3)
กำหนดค่านิยมและทรัพยากรอื่น ๆ ให้ครบพร้อมให้ค่าน้ำหนัก เช่น ความเชื่อ วัฒนธรรม การให้ค่าน้ำหนักคือการจัดลำดับความสำคัญเพื่อจะดูว่าอะไรสำคัญมากน้อยกว่ากัน
             4)
เตรียมทางเลือกในการแก้ไขปัญหาให้ครบทุกทางเลือก
             5)
คาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในแต่ละทางเลือก
             6)
คำนวณผลสุดท้ายของแต่ละทางเลือก
             7)
เปรียบเทียบผลของแต่ละทางเลือก เลือกทางเลือกที่เกิดผลประโยชน์สูงสุด ทางเลือกนี้จะถูกนำไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ

             
แต่ในทางปฏิบัติจริงการดำเนินการในลักษณะเหล่านี้ต้องใช้เวลานานมาก แค่เราจะซื้อรถยนต์สักคันคงไม่คิดมากขนาดนี้ เรามักจะมีตัวเลือกอยู่ในใจอยู่แล้วแค่หาข้อมูลมาประกอบเพื่อบ่งชี้ว่าเราได้เลือกแล้ว หรือการดำเนินงานในส่วนราชการ เช่น คัดเลือกบุคลากรไปดูงานต่างประเทศ ถ้าใช้ Rational Model ก็ต้องมีเกณฑ์คุณสมบัติ ดูว่าผู้ที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้มีใครบ้างให้มาสอบแข่งขันกันเพื่อหา The Best ที่จะได้รับทุน แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ทำแบบนี้ การตัดสินใจตามตัวแบบมีเหตุมีผลทำได้ยาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย บางครั้งผู้วิเคราะห์อาจไม่มีความรู้เพียงพอในการวิเคราะห์ แต่ถ้าทำได้จะดีมากเพราะทุกอย่างได้ผ่านการกลั่นกรอง วิเคราะห์ พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว

             
6. ตัวแบบส่วนเพิ่ม (Incremental Model)  หรือตัวแบบเฉพาะส่วนที่เปลี่ยนแปลง มองว่า นโยบายสาธารณะคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการในอดีต การกำหนดนโยบายมักจะนำนโยบายในอดีตมาเป็นเกณฑ์ เมื่อก่อนทำอะไรก็ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไขออกมาเป็นนโยบายใหม่ ในทางวิชาการมองว่าตัวแบบส่วนเพิ่มเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ดี เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ใช่นโยบายใหม่แต่เป็นการแต่งตัวใหม่ เพราะในอดีตรัฐบาลมีนโยบายด้านสุขภาพอยู่แล้ว แค่นำมาดัดแปลงแล้วนำเสนอในชื่อใหม่เท่านั้น

             
การใช้ตัวแบบส่วนเพิ่มในการวิเคราะห์นโยบายจะต้องดูว่า นโยบายที่กำลังวิเคราะห์อยู่นี้เคยมีมาแล้วในอดีตหรือไม่ ถ้ามีในอดีตมีลักษณะใด นำมาปรับปรุง เพิ่มเติม แก้ไขออกมาเป็นนโยบายใหม่อย่างไร ตัวแบบส่วนเพิ่มมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติมากกว่าเพราะไม่ต้องศึกษาหาข้อมูลกันใหม่ทั้งหมด และเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ดีเนื่องจากการกำหนดนโยบายใหม่ ๆ ออกมาเลยอาจทำให้เกิดการคัดค้านต่อต้าน แต่ถ้าดัดแปลงจากของเดิมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เคยทำมาแล้วการคัดค้านจะมีน้อยกว่า ประชาชนยอมรับได้ง่ายขึ้น

             
7. ตัวแบบทฤษฎีเกม (Game Theory Model)  มองว่า นโยบายสาธารณะที่ถูกกำหนดออกมาเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการแข่งขัน อย่างในการเล่นเกมต้องมีผู้เล่นสองฝ่ายขึ้นไป เราไม่อาจรู้ได้ว่าคู่แข่งของเราคิดอะไรและจะทำอะไร ได้แต่คาดเดาว่าเขาน่าจะทำอย่างนั้นน่าจะทำอย่างนี้ แล้วเราก็ตัดสินใจกำหนดนโยบายตามการคาดเดาดังกล่าว เป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลแล้วแต่อาจทำให้เราแพ้หรือชนะก็ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าคู่แข่งคิดอะไร ถ้าแพ้ก็เสียหายน้อยหน่อยเนื่องจากได้พิจารณามารอบคอบแล้ว เช่น การขับรถบนถนนเลนเดียวที่วิ่งสวนทางกันไม่ได้ เมื่อมีรถสองคันขับเข้ามาประจันหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างเดาใจกัน ถ้าเราลุยฝ่ายตรงข้ามหลบเราก็ชนะฝ่ายตรงข้ามแพ้แบบเสียหายน้อย ถ้าเราหลบฝ่ายตรงข้ามลุยเราแพ้แบบเสียหายน้อย ถ้าต่างฝ่ายต่างหลบลงข้างทางทั้งคู่ก็เสียหายน้อย แต่ถ้าต่างคนต่างลุยย่อมเสียหายมหาศาลถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายได้

             
ตัวแบบทฤษฎีเกมมักใช้ในนโยบายป้องกันประเทศ เช่น จะส่งทหารไปร่วมรบในอิรักดีหรือไม่ จะส่งผลต่อประเทศชาติอย่างไร การวิเคราะห์ในกรอบนี้จะต้องมีผู้เกี่ยวข้องสองฝ่าย สถานการณ์ กลยุทธ์การตัดสินใจที่แต่ละกลยุทธ์จะให้ผลไม่เท่ากันเพราะเราควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นบ่อย ๆ คือการ Quiz ของอาจารย์ที่นักศึกษาต้องเดาว่าจะ Quiz คาบ 1, 2, 3 หรือไม่ Quiz เลย สิ่งที่นักศึกษาทำได้คือกลยุทธ์ของนักศึกษาว่าจะมาเรียนหรือไม่มาเรียนหรือนักศึกษาจะตัดสินใจลงทุนเปิดร้านอาหารสองร้าน ค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าเปิดสองร้านแล้วดอกเบี้ยถูกมีโอกาสที่จะได้กำไร เปิดสองร้านดอกเบี้ยแพงก็เจ๊ง เปิดร้านเดียวถ้าดอกเบี้ยถูกก็กำไรน้อย เปิดร้านเดียวดอกเบี้ยแพงก็ขาดทุนน้อย

             
8. ตัวแบบทางเลือกสาธารณะ (Public Choice Model) ในวิชา 705 อาจารย์เคยสอนเรื่องทฤษฎีทางเลือกสาธารณะมาแล้วที่มองว่า ปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีเหตุผล ในความมีเหตุผลทุกคนย่อมแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดให้กับตนเอง นักการเมืองอยากได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ผู้บริโภคอยากได้สินค้าและบริการที่ถูกที่สุดดีที่สุด ข้าราชการอยากได้ชื่อเสียงเกียรติยศตำแหน่ง ตัวแบบทางเลือกสาธารณะจึงมองว่านโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจร่วมกันโดยคำนึงถึงความต้องการของปัจเจกบุคคล จึงต้องเปิดทางเลือกหลาย ๆ ทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ตรงความต้องการมากที่สุด ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง เช่น นโยบายถ่ายโอนภารกิจของรัฐบางภารกิจให้เอกชนดำเนินการ มีเอกชนหลายหน่วยงานเข้ามาดำเนินการในภารกิจนั้นในรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนได้เลือกใช้บริการรูปแบบที่ตรงใจตนเองมากที่สุด อย่างโทรศัพท์ก็มีหลายเครือข่ายให้เลือก

             
9. ตัวแบบระบบ (Systems Model) มองว่า นโยบายสาธารณะเป็นผลผลิตของระบบ ตามภาพ
จากแผนภาพอธิบายได้ว่า ปัจจัยนำเข้าอาจจะเป็นข้อเรียกร้องต้องการ (Demands) หรือการสนับสนุนจากประชาชน (Supports) จะถูกนำเข้าสู่ระบบการเมืองเพื่อกลั่นกรองแล้วตัดสินใจออกมาเป็นนโยบายสาธารณะ ดังนั้นนโยบายสาธารณะจึงเป็นผลผลิตของระบบ ผลของนโยบายจะตกอยู่กับประชาชน โดยจะประเมินว่านโยบายดังกล่าวตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากน้อยเพียงใดจาก Feedback ที่ย้อนกลับมา เช่น คนกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรติดขัดอยากให้รัฐบาลสร้างถนนเพิ่ม จากนั้นก็ประเมินผลว่าสร้างถนนแล้วการจราจรยังติดขัดอีกหรือไม่ ถ้ายังติดขัดอยู่ก็เป็น Feedback กลับเข้าสู่รัฐบาลอีกรอบหนึ่ง รัฐบาลก็ต้องคิดว่าควรแก้ไขหรือกำหนดนโยบายใดออกมา

             
ตัวแบบระบบสามารถนำไปวิเคราะห์ได้หลากหลายจนกลายเป็นตัวแบบอเนกประสงค์ แต่อาจารย์อยากให้ใช้ตัวแบบอื่นมากกว่าตัวแบบนี้ง่ายเกินไป

             
ทั้ง 9 ตัวแบบที่กล่าวไปจะให้คำตอบได้ว่าใครเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ ใช้หลักเกณฑ์ใดในการกำหนด บางตัวแบบใช้วิเคราะห์ได้บางนโยบาย เช่น ตัวแบบกลุ่ม ตัวแบบผู้นำ ตัวแบบส่วนเพิ่ม บางตัวแบบวิเคราะห์ได้ทุก ๆ นโยบาย เช่น ตัวแบบสถาบัน ตัวแบบกระบวนการ ตัวแบบระบบสามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง  ตัวแบบมีเหตุผลแทบจะใช้ไม่ได้เลยในสภาพความเป็นจริง ตัวแบบทฤษฎีเกมใช้สำหรับนโยบายการป้องกันประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น