วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

จริยธรรมของการวิจัย

จริยธรรมของการวิจัย
ในสังคมปัจจุบันนี้  เป็นยุคที่โลกนั้นมีความพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว  ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน  เช่น  การเดินทาง  การเรียนการสอน  การทำงาน  ฯลฯ  รวมไปถึงความคิดของคนอีกด้วย  จึงทำให้คนนั้นมีอิสระทางความคิด  ค่านิยม  และความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปมาก
และด้วยความที่มีอิสระของคน ทำเกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมามากมายทั้งที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป  บางครั้งด้วยความที่เรามีอิสรเสรีภาพมากขึ้นทำให้เราอาจจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น โดยที่เราเองอาจจะไม่ได้ตั้งก็ได้   ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง  ทำให้เราควรหันมาสนใจในเรื่องของจริยธรรมและจรรยาบรรณที่เราควรจะต้องเรียนรู้ไว้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยที่เป็นผู้ศึกษาหาข้อมูลต่างๆอยู่เสมอ
จึงจะขอกล่าวถึงเรื่องของจริยธรรมและจรรยาบรรณของการทำวิจัย  จริยธรรมและจรรยาบรรณของนักวิจัย จริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพวิจัย และจริยธรรมและจรรยาบรรณของผลงานวิจัย  ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากที่ผู้เป็นนักวิจัยและผู้ที่กำลังจะทำงานวิจัยควรที่จะทราบไว้
ก่อนที่จะทราบถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณนั้น  ก็ควรที่จะทราบความหมายของการวิจัยและนักวิจัยก่อน  เพื่อจะได้ทราบถึงความสำคัญของการวิจัยและตระหนักถึงสิ่งที่นักวิจัยควรที่จะกระทำต่องานวิจัยของตน
การวิจัย ( Research )
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ วิจัยไว้ว่า   วิจัย  หมายถึง  การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา [1]
ในหนังสือการวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ของจิตราภา กุณฑลบุตร ได้ให้ความหมายของการวิจัยว่า

   การวิจัย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า research  ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ  การค้นหาสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยค้นแล้วค้นอีกนั่นเอง เปรียบเสมือนการศึกษาหาความรู้ ถ้าเป็นการค้นหาความรู้โดยวิธีต่างๆการวิจัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตลอดชีวิตของบุคคลที่มีกระบวนการค้นหาความรู้ ถ้าต้องการได้คำตอบที่ชัดเจน แม่นตรงก็ต้องทำการศึกษาจากหลายๆแหล่ง หลายๆครั้ง เพื่อให้ได้ผลตรงกัน หรือสอดคล้องกันเป็นความหมายกว้างๆ [2]
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบข้อเสนอการวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ ที่เสนอขอต่อการพัฒนาประกาศได้กำหนดนิยามเกี่ยวกับการวิจัยไว้ดังนี้   การวิจัย  หมายถึง การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์อย่างมีระบบ โดยอาศัยอุปกรณ์หรือวิธีการเพื่อให้พบข้อเท็จจริงหรือหลักการไปใช้ในการตั้งกฎ ทฤษฎี หรือแนวทางการปฏิบัติ [3]
จะเห็นได้ว่า  ความหมายของการวิจัยนั้น  มักจะเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความเที่ยงตรง  ถูกต้องแม่นยำ  โดยมีอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบ  และเมื่อได้ศึกษาจากหลายแหล่งก็จะทำให้ข้อมูลเกิดความน่าเชื่อถือ
นักวิจัย
นักวิจัย หมายถึง ผู้ที่ดำเนินการค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อตอบประเด็นที่สงสัย โดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับ ในแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมทั้งแนวคิด มโนทัศน์ และวิธีการที่ใช้ในการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล [4]
จริยธรรม ( Ethics  )                                                                                                                                         
ประกอบด้วยคำว่า จริย กับ คำว่า ธรรม จริย เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่า จริยา แปลว่า ความประพฤติ จริยา กับ จรฺยา เป็นคำเดียวกันของภาษาคนละภาษา จริยธรรม แปลว่า ธรรมะที่ควรประพฤติปฏิบัติ มักหมายถึง ความประพฤติที่แสดงถึงความเป็นผู้ที่มีธรรมะในใจ เช่น มีความซื่อตรง มีความเมตตากรุณา ไม่คดโกงหรือเอาเปรียบผู้ใด เช่นกล่าวว่า แม้จะเป็นพ่อค้าก็ควรมีจริยธรรมในการค้า ไม่คดโกงหลอกลวงหรือเอาเปรียบลูกค้า นักธุรกิจต้องมีจริยธรรมไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ครูต้องมีจริยธรรม ผู้ที่เอารายงานค้นคว้าเรื่องต่างๆ ที่ศิษย์เสนอ มาใช้เป็นผลงานของตนเป็นคนไม่มีจริยธรรม [5]
                และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  ได้ให้ความหมายของจริยธรรมไว้ว่า จริยธรรม หมายถึง  ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม [6]
ส่วนรองศาตราจารย์สุชาตา  ชินะจิตร ได้อธิบายความหมายของจริยธรรมว่า  เป็นหลักแห่งความประพฤติที่ดีงาม เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม [7]
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  จริยธรรม ก็คือ หลักแห่งการประพฤติดี  ปฏิบัติดี  ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกาย วาจา และใจ ซึ่งการประพฤติดี ปฏิบัติดีนั้น  จะต้องไม่สร้างปัญหาให้กับตนเองและผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนจากการกระทำของตน  แล้วการประพฤติ ปฏิบัตินั้นต้องไม่ผิดศีลธรรมด้วย
โครงสร้างของจริยธรรม
หน่วยนิเทศ กรมสามัญศึกษา ได้กำหนดโครงสร้างของคุณลักษณะของจริยธรรมไว้ดังนี้ [8]
1.ความรับผิดชอบ  หมายถึง ความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพัน ด้วยความพากเพียร และความละเอียดรอบคอบ ยอมรับผลการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ทั้งพยายามที่จะปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น
2. ความซื่อสัตย์ คือ การประพฤติอย่างเหมาะสม และตรงต่อความเป็นจริง ประพฤติ ปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา ทั้งกาย วาจา ใจ  ต่อตนเองและผู้อื่น
3. ความมีเหตุผล หมายถึง ความสามารถในการใช้ปัญญาในการประพฤติ ปฏิบัติ รู้จักไตร่ตรองพิสูจน์ให้ประจักษ์ ไม่หลงงมงาย มีความยับยั้งชั่งใจ โดยไม่ผูกพันกับอารมณ์ และความยึดมั่นของตนเองที่มีอยู่เดิมซึ่งอาจผิดได้
4. ความกตัญญูกตเวที  หมายถึง ความรู้สึกในการอุปการคุณ หรือบุญคุณที่ผู้อื่น หรือสิ่งอื่นมีต่อเรา
5. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การควบคุมความประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับจรรยามารยาท ข้อบังคับ ข้อตกลง กฎหมาย และศีลธรรม
6. ความเสียสละ หมายถึง การละความเห็นแก่ตัว การให้แบ่งปันแก่บุคคลที่ควรให้ด้วยกำลังกาย กำลังสติปัญญา รวมทั้งรู้จักสลัดทิ้งอารมณ์ร้ายในตนเองด้วย
7. การประหยัด การใช้สิ่งทั้งหลายพอเหมาะพอควร ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ยอมให้มีส่วนเกินมากนัก รวมทั้งการรู้จักระมัดระวัง รู้จักยับยั้งความต้องการให้อยู่ในกรอบและขอบเขตที่พอเหมาะพองาม
8. ความอุตสาหะ คือ ความพยายามอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในงาน
9. ความสามัคคี คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความพร้อมเพรียง ร่วมมือกันกระทำกิจการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
10. ความเมตตา กรุณา  เมตตา คือ ความรักใคร่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีสุข กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
11. ความยุติธรรม หมายถึง การปฏิบัติด้วยความเที่ยงตรง สอดคล้องกับความเป็นจริงและเหตุผลไม่มีความลำเอียง
จริยธรรมวิชาชีพ ( Professional  ethics )
                จริยธรรมวิชาชีพ ภาษาอังกฤษว่า Professional  ethics  เป็นการประพฤติดี  ปฏิบัติชอบของผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรแรงงาน  ผู้ขายบริการ ไปถึงเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง มีหลักการพึงควรกระทำตนให้เป็นที่ปรารถนาของกันและกัน เน้นเสถียรภาพส่วนตน และมารยาทในสังคมอันพึงควรปฏิบัติแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานของตน [9]
จริยธรรมในการทำวิจัย
ในสวีเดน คณะกรรมการวิจัยในมนุษย์และสังคมศาสตร์ของสวีเดน ( The Swedish Council for Research in the Humanities and Social Science ) ได้พิมพ์เผยแพร่หลักของจริยธรรมในการทำวิจัยซึ่งมี 4 ประการ คือ [10]
ผู้วิจัยต้องได้รับหนังสือยินยอมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยก่อน
ผู้ยินยอมมีสิทธิที่จะพิจารณาเงื่อนไขของการมีส่วนร่วม
ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ทำวิจัย
ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยจะไม่ให้บุคคลภายนอกโครงการวิจัยนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์หรือวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่ทางวิชาการ
และ  Shrader – Frechette ( 1994 ) ได้เสนอหลักการพื้นฐาน ( basic principles ) ด้านจริยธรรมในการทำวิจัยไว้ 3 ประการ  ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่เพียงใช้ได้ดีในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ได้ในการวิจัยในทุกสาขาวิชาด้วย ดังนี้ [11]
หลีกเลี่ยงการมีอคติในผลการวิจัย รายงานการวิจัย
อคติอาจมีขึ้นได้ในการวิจัยของบางหน่วยงาน เช่น ในสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย ซึ่งนักวิจัยมีอิสระอย่างเต็มที่ในการทำวิจัย อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจเกิดอคติในการสรุปผลหรือเขียนรายงานการวิจัยขึ้นได้ แม้จะโดยไม่เจตนาก็ตาม เช่น การศึกษาเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรม หากผู้ทำวิจัยไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุสาหกรรมนั้นดีเพียงพอ หรือไม่เคยมีลูกค้าที่อยู่ในธุรกิจเชิงพาณิชย์เลย และขณะเดียวกันลูกค้าเป็นหน่วยงานราชการด้วยกัน ก็อาจนำไปสู่การสรุปผลที่มีอคติหรือมีความเอนเอียงมาทางฝ่ายภาครัฐก็เป็นได้
ส่งเสริมการใช้ผลการวิจัย รายงานการวิจัยที่ไม่มิอคติ
หลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ผลงานวิจัยหรือรายงานการวิจัยอย่างไม่ถูกต้อง ( misuse ) หรือการนำไปประยุกต์ใช้ที่ไม่ถูกต้อง ( misapplication ) ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลการวิจัยหรือรายงานการวิจัยที่ไม่มีอคติหรือความเอนเอียง จึงเป็นความพยายามของหน่วยงานวิจัยที่จะใช้ควบคู่กับหลักการในข้อแรก
ส่งเสริมงานวิจัยให้เป็นสินค้าสาธารณะ
หลักการข้อนี้คือพยายามส่งเสริมงานวิจัยที่ทำให้เป็นสินค้าสาธารณะ โดยมีการแพร่หลายไปยังแหล่งต่างๆ เพื่อให้บุคคลนำไปใช้ได้ ซึ่งการเผยแพร่ ( dissemination of research output ) สามารถทำได้ในหลายวิธี
แต่ในทางกลับกัน Sarantakos ( 1998 ) ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำวิจัยในรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับนักวิจัยนำไปปฏิบัติ ดังนี้ [12]
การเก็บข้อมูลและประเมินผลข้อมูลต้องทำด้วยความถูกต้อง
ใช้วิธีการศึกษาที่ตรงกับปัญหาที่จะทำวิจัย
การตีความข้อมูลต้องทำอย่างเหมาะสม
การรายงานผลการวิจัยต้องมีความถูกต้อง ไม่มีอคติหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
ต้องไม่เสนอผลการค้นพบจากข้อมูลที่ไม่ได้เก็บมาเพื่อการวิจัยดังกล่าว
ต้องไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือตกแต่งข้อมูลให้ต่างจากความเป็นจริง
สรุปแล้ว จริยธรรมในการทำวิจัยนั้น  จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเก็บรวมรวบข้อมูลที่มาจากข้อเท็จจริง  โดยที่จะต้องไม่มีอคติ  ไม่บิดเบือนข้อมูลที่ได้มา  รวมไปถึงจะต้องไม่ปรับเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์ต่างๆ  เมื่อผลงานการวิจัยออกมาสมบูรณ์แล้วก็ควรที่จะส่งเสริมให้งานวิจัยนั้นเป็นสินค้าสาธารณะ  เพราะว่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการและสนใจหัวข้อการวิจัย  อีกทั้งผู้ทำวิจัยเองควรที่จะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อการทำวิจัย  มีความยุติธรรมไม่เอนเอียงข้อมูลไปเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  และต้องมีความเป็นระเบียบในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้มาอย่างถูกต้องเหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น