ส่วนประกอบของรายงานวิชาการ
1. ส่วนนำ
ประกอบด้วย ปกนอก หน้าปกใน คำนำ และสารบัญ
1. ปกนอก ประกอบด้วย ชื่อเรื่องของรายงาน ชื่อผู้จัดทำ ชื่อรายวิชา คณะวิชา มหาวิทยาลัย ภาคการศึกษา และปีการศึกษา
2. หน้าปกใน มีข้อความเช่นเดียวกับปกนอก ระหว่างปกนอก กับหน้าปกในนี้อาจมีใบรองปกซึ่งเป็นกระดาษเปล่าหนึ่งแผ่นคั่นอยู่ก็ได้
3. คำนำ เนื้อหาในคำนำเป็นการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการทำรายงาน ขอบเขตของเนื้อหา และคำขอบคุณผู้ให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ในการทำรายงาน คำนำเป็นส่วนที่ช่วยให้ผู้อ่านทราบว่ารายงานนั้นเขียนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด และมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด จึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
4. สารบัญ ผู้เขียนรายงานจะนำหัวข้อสำคัญ ๆ ของเนื้อเรื่องในรายงานมาบรรจุไว้ในสารบัญ ระบุเลขหน้าของแต่ละหัวข้อเพื่อให้ค้นหาได้สะดวก การเรียงตามลำดับหัวข้อต่าง ๆ เป็นไปตามเนื้อเรื่องของรายงาน
2. ส่วนเนื้อความ
ประกอบด้วยบทนำ เนื้อหา และสรุป
1. บทนำ เนื้อหาแต่ละบทหรือแต่ละตอนจะมีบทนำอันเป็นการเกริ่นนำเพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจของผู้อ่าน และนำผู้อ่านเข้าสู่รายละเอียดของเนื้อหา
2. เนื้อหา ส่วนเนื้อหาจัดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของรายงาน การเรียบเรียงเนื้อหาในรายงานเป็นไปตามลักษณะของโครงเรื่องที่กำหนด หากเป็นรายงานขนาดยาวควรแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทหรือตอน การเรียบเรียงเนื้อหาต้องมีการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในการแสดงเหตุผล หรือเป็นหลักฐานอ้างอิงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยทุกครั้ง
3. สรุป เมื่อบรรยายหรืออธิบายความที่ค้นคว้ามาได้จบแล้ว ผู้เขียนต้องเขียนสรุปประเด็นอีกครั้งหนึ่ง การเขียนสรุปช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอได้ง่ายขึ้น ในส่วนของผู้เขียนเอง การเขียนบทสรุปจะช่วยให้ประเด็นความคิดแจ่มแจ้งขึ้นเช่นกัน
3. ส่วนท้าย
ประกอบด้วยบรรณานุกรม และภาคผนวก
1. บรรณานุกรม รายการอ้างอิงในบรรณานุกรมเป็นรายชื่อหนังสือ เอกสาร ตลอดจนแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่ใช้ในการค้นคว้าเพื่อทำรายงาน นอกจากนี้รายการอ้างอิงยังรวมไปถึงบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ ได้ด้วย เอกสารอ้างอิงเหล่านี้จะนำมาเรียงลำดับอย่างเป็นระบบระเบียบตามหลักการเขียนบรรณานุกรมเพื่อให้ค้นหาไดง่าย
ภาคผนวก ส่วนนี้เป็นเนื้อหาที่ไม่ใช่เนื้อเรื่องรายงานโดยตรง แต่เป็นส่วนประกอบที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้น เนื่องจากเนื้อความในภาคผนวกมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องในรายงานผู้เขียนจึงนำมารวบรวมไว้ด้วย โดยทั่วไปภาคผนวกมักจะเป็นเนื้อหาที่เป็นรายละเอียดของเนื้อหา เช่น ตาราง แบบสอบถาม แบบทดสอบ คำอธิบายเพิ่มเติม เป็นต้น
ขั้นตอนในการทำรายงานวิชาการ
1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการทำรายงาน
การกำหนดจุดมุ่งหมายของการทำรายงานให้ชัดเจนก่อนที่จะเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลโดยละเอียดจะช่วยให้ผู้ทำรายงานทราบว่าจะศึกษาค้นคว้าเพื่อค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องใด มีวัตถุประสงค์อะไร ขอบเขตของการค้นคว้ากว้างขวางเพียงใด จะต้องใช้ข้อมูลความรู้ประเภทใดบ้าง หรือจะต้องค้นคว้าด้วยวิธีใด เช่น การวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกต หรือการทดลอง เป็นต้น
2. การเลือกเรื่อง ตั้งชื่อเรื่อง และกำหนดขอบเขตของเรื่อง
หากการทำรายงานนั้นไม่มีการกำหนดเรื่องให้ผู้เรียนต้องเลือกเรื่องเอง หลักการเลือกเรื่องอย่างง่ายคือ เลือกเรื่องที่เราสนใจหรือถนัด และเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าควรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ น่าสนใจ เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ทำรายงานและผู้อ่าน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงลักษณะของข้อมูลและแหล่งข้อมูลที่จะค้นคว้าด้วย ควรเลือกเรื่องที่มีข้อมูลมากเพียงพอและสามารถค้นคว้าได้ง่าย เมื่อเลือกเรื่องได้แล้วจึงคิดตั้งชื่อเรื่อง ชื่อเรื่องจะต้องครอบคลุมสาระสำคัญของเรื่องทั้งหมดและกำหนดขอบเขตของเรื่อง
3. การเขียนโครงเรื่องของรายงาน
การกำหนดโครงเรื่องของรายงาน คือการวางกรอบความคิดซึ่งจะใช้ในการเขียนโครงเรื่องมีทั้งหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อยซึ่งจัดเป็นหมวดหมู่และเรียงตามลำดับความสำคัญตามลักษณะของเนื้อหา ในการเขียนโครงเรื่องผู้เขียนต้องรวบรวมประเด็นความคิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องให้ครบถ้วน ครอบคลุมทุกประเด็นเพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ จากนั้นจึงนำหัวข้อเหล่านั้นมาจัดหมวดหมู่แล้วเรียงลำดับอย่างสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน การเขียนโครงเรื่องนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการทำรายงาน โครงเรื่องจะช่วยให้ผู้เขียนรู้ว่าจะเขียนรายงานไปในแนวใด มีรายละเอียดหรือความยาวเพียงใด
4. การสำรวจแหล่งข้อมูลและรวบรวมข้อมูล
ผู้ทำรายงานต้องพิจารณาว่าข้อมูลที่จะนำมาใช้เป็นข้อมูลชนิดใด เมื่อทราบแล้วจึงสำรวจแหล่งข้อมูลเพื่อให้ทราบว่ามีข้อมูลเพียงพอและเชื่อถือได้หรือไม่ ข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ข้อมูลจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ (Documentary Data) และข้อมูลสนาม (Field Data) ข้อมูลจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เป็นข้อมูลที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือตัวเรื่องนั้นโดยตรง และข้อมูลที่เป็นข้อสรุปหรือข้อวิเคราะห์วิจารณ์ แหล่งข้อมูลเอกสารที่สำคัญคือ หนังสืออ้างอิง หนังสือทั่วไป วารสาร และหนังสือพิมพ์ ส่วนข้อมูลสนามเป็นข้อมูลที่ผู้ทำรายงานจะต้องรวบรวมขึ้นเองจากการสำรวจ การสังเกต การสัมภาษณ์ การส่งแบบสอบถาม หรือการทดลอง (จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ , 2540)
5. การบันทึกข้อมูล
เมื่อสำรวจเอกสารและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการศึกษาได้แล้วจึงเป็นขั้นตอนของการอ่านเพื่อบันทึกข้อมูล การบันทึกลงต้องทำอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อให้สามารถค้นหาได้สะดวก การบันทึกจะใช้กระดาษขนาดใดก็ได้แต่ต้องให้จัดเก็บได้สะดวก ในบัตรบันทึกต้องเขียนหัวข้อเรื่องที่บันทึก ชื่อเรื่อง แหล่งข้อมูล เนื้อความ และแหล่งข้อมูล จากนั้นจึงนำบัตรบันทึกทั้งหมดมาจัดหมวดหมู่ตามหัวข้อในโครงเรื่อง การจะนำข้อมูลมาใช้ต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล ตลอดจนลักษณะของข้อมูลนั้นว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็น ผู้เขียนรายงานเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นเหล่านั้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
6. การเรียบเรียงเนื้อหาของรายงาน
การเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานสามารถทำได้โดยนำเอาบัตรบันทึกข้อมูลทั้งหมดมาเรียบเรียงตามลำดับหัวข้อที่กำหนดไว้ในโครงเรื่อง ผู้เขียนควรเรียบเรียงข้อความที่บันทึกจากเอกสารต่าง ๆ โดยมีการแสดงข้อคิดเห็นประกอบ และใช้สำนวนภาษาที่กระชับ สละสลวย อ่านง่าย ร้อยเรียงเนื้อหาส่วนต่าง ๆ ให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปตามลำดับโดยใช้ภาษาของตนเอง ไม่ใช่การนำบันทึกเหล่านั้นมาเขียนต่อกันไปโดยไม่มีการเชื่อมโยงความคิด การเรียบเรียงเนื้อหาในรายงานวิชาการต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น