วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman)


เจ้าของประโยคที่โด่งดังในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ” (There's no such thing as a free lunch.) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักงานเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม ของมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เขาได้สร้างความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในสาขาวิชา มหเศรษฐศาสตร์, จุลเศรษฐศาสตร์, ประวัติศาสตร์และสถิติเชิงเศรษฐศาสตร์ เขาเป็นผู้สนับสนุน ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี (laissez-faire capitalism)ในหนังสือ Capitalism and Freedom เขาสนับสนุนการลดการแทรกแซงและการมีบทบาทของรัฐบาลในตลาดเสรีเพื่อสร้างเสรีภาพทางสังคมและการเมือง เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์สำหรับความสำเร็จในด้านการวิเคราะห์การบริโภค, ประวัติศาสตร์และทฤษฎีด้านเงินตรา และสำหรับการพิสูจน์ให้เห็นถึงความซับซ้อนของนโยบายเสถียรภาพ
มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาในยุคเดียวกับแซมมวลสัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ๑๙๗๖ หลังจากแซมมวลสันเจ็ดปี ถือได้ว่าเป็นเจ้าสำนักเศรษฐศาสตร์แห่งสำนักการเงินนิยมของมหาวิทยาลัยชิคาโก แม้ว่าฟรีดแมนไม่ได้เขียนตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นให้อ่านกันอย่างแพร่หลายเหมือนกับแซมมวลสัน แต่งานเขียนของฟรีดแมนก็ได้รับยกย่องในหมู่นักเศรษฐศาสตร์เนื่องจากว่าเขาเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์ของวิชาเศรษฐศาสตร์โดยเขากล่าวไว้ว่า เศรษฐศาสตร์ปฏิฐานนิยม (positive economics) นั้นสามารถที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ภววิสัย (objective science) ได้เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์กายภาพ ข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์จะต้องนำเสนอด้วยความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์จึงจะนับรวมเป็นองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้นได้ และวิธีทดสอบที่ควรจะนำมาใช้ก็คือ การเปรียบเทียบการคาดคะเนที่ได้จากวิธีการดังกล่าวกับประสบการณ์จริง             
                 ในขณะที่แซมมวลสันมีข้อสมมติฐานว่ารัฐบาลนั้นมีความตั้งใจดีในการแทรกแซงตลาดเพื่อให้ตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล ฟรีดแมนกลับมีความเห็นว่า รัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้แต่รัฐบาลอเมริกันก็อาจจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพแบบอเมริกันด้วย และยิ่งเป็นรัฐบาลในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เช่นในกรณีของโซเวียตรัสเซีย ไม่เพียงแต่ยึดทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น ยังมีการเข่นฆ่าประชาชนของตัวเองด้วย ถึงแม้ว่ารัฐบาลอเมริกันจะไม่มีพฤติกรรมเช่นนั้นโดยตรง แต่ฟรีดแมนก็มีความเชื่อว่า การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในหนังสือที่เขาเขียนในปี ๑๙๖๒ ชื่อ Capitalism and Freedom นั้น เขากล่าว่า เสรีภาพทางการเมืองนั้นค่อนข้างจะเปราะบาง จำเป็นต้องมีการทะนุถนอมเป็นอย่างดี และระบบทุนนิยมจะดำเนินไปด้วยดีนั้นจำเป็นจะต้องมีเสรีภาพทางการเมือง การแข่งขันในระบบทุนนิยมจำเป็นต้องมีการแยกอำนาจทางเศรษฐกิจออกจากอำนาจทางการเมืองอย่างชัดเจนจึงจะมีการคานอำนาจเกิดขึ้นได้ ความดีของระบบตลาดในความเห็นของฟรีดแมนนั้นขึ้นอยู่กับการร่วมมือโดยสมัครใจของปัจเจกบุคคลโดยไม่มีการใช้กำลังบังคับ ซึ่งต่างไปจากระบบเศรษฐกิจที่มีการกำหนดโดยรัฐบาลและเนื่องจากเสรีภาพทางการเมืองนั้นก็คือการปราศจากการใช้กำลังบังคับกับประชาชนโดยรัฐบาล ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจในระบบตลาดจึงสอดคล้องกับหลักเสรีภาพส่วนบุคคล เขามีความเห็นร่วมแซมมวลสันว่า ตลาดจะเป็นกลไกที่มีประสิทธิผลในการประสานหน้าที่ทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน พร้อมกันนั้นฟรีดแมนก็เห็นว่า ถ้าทุกคนทำตามเป้าหมายของตนเองที่กำหนดไว้ ก็จะเป็นพลังมหาศาลที่จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ระบบเศรษฐกิจ เขากล่าว่า พลังที่แข็งแรงและสร้างสรรค์มากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก เกิดจากความพยายามของคนจำนวนนับล้านที่พยายามทำตามผลประโยชน์ของตนเอง และมีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าตามแบบที่เขากำหนด ถ้าหากแต่ละคนได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถและความคิดของตนเองตามที่แต่ละคนเห็นสมควร บนพื้นฐานของความร่วมมือกันโดยสมัครใจร่วมกับบุคลอื่นอาจคาดหวังได้ว่าจะมีผลิตภาพเกิดขึ้นอย่างมหาศาลแก่สังคม แต่อุปสรรคอาจจะอยู่ที่รัฐบาล ถึงแม้มีการคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการปฏิวัติในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ถ้าหากย้อนไปศึกษาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์จะพบว่า รัฐบาลทำหน้าที่ดังกล่าวได้น้อยมาก ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ การจัดการนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาดของรัฐบาลมีผลทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ ๑๙๓๐ โครงการที่อยู่อาศัยของรัฐบาลในช่วงนิวดีล (new deal) มีผลที่เกิดขึ้นจริงคือ ทำให้สภาพของคนยากจนเลวลง สร้างปัญหาอาชญากรรมวัยรุ่นและมีการขยายตัวของความเสื่อมโทรมในเมือง ดังนั้นความพยายามของรัฐบาลโดยทั่วไปจะประสบความล้มเหลวไม่ว่าจะมีความตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม    
         
                ปัญหาจริง ๆ เกิดจากความเข้าใจผิดที่คิดว่าโครงการใหม่ ๆ ของรัฐบาลจะได้รับการจัดการโดยบุคคลที่ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝงอยู่สามารถดำเนินการได้อย่างมีอิสระปราศจากแรงกดดันของกลุ่มผลประโยชน์ ในความเป็นจริงรัฐบาลไม่เหมือนตลาด ที่จะหวังให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความคิดและพลังสร้างสรรค์ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ต่อสังคม ในความเป็นจริงกลไกการทำงานของรัฐบาลมีการถูกใช้ไปเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ส่วนตน ทำให้รัฐบาลเป็นเป้าหมายในการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มที่มีโอกาสบางกลุ่ม ดังนั้นการที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความก้าวหน้าและขยายตัวนั้น รัฐบาลจะต้องเป็นตัวการสำคัญในการปิดกั้นโอกาสการหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นถ้าต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาขยายตัว จำเป็นต้องลดบทบาทการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐ ซึ่งการลดบทบาทดังกล่าวจะช่วยลดความสูญเสียทรัพยากรไปในโครงการสาธารณะที่ไม่จำเป็น และเปิดทางให้พลังการผลิตของสหรัฐอเมริกาดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ภายใต้การดำเนินของภาคเอกชน ในหนังสือ Capitalism and Freedom ฟรีดแมนได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติบทบาทการแทรกแซงในตลาด เป็นต้นว่า การเข้าไปพยุงราคาสินค้าเกษตร การเก็บภาษีสินค้านำเข้า การควบคุมค่าเช่า และการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมกับเสนอให้เลิกบทบาทของรัฐบาลในเรื่องเหล่านี้เช่น การประกันสังคม โครงการเคหะ สวนสาธารณะ และการสร้างทางด่วนระหว่างรัฐ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และการยกเลิกการผูกขาดของกิจการไปรษณีย์โทรเลข ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ต่างไปจากข้อเสนอของเฮอร์เบิร์ต สเปน-เซอร์ เจ้าของลัทธิดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) ถ้าหากอธิบายเช่นนั้น คนอเมริกันก็คงจะไม่ยอมรับ เพราะเท่ากับเป็นการปฏิเสธรัฐสวัสดิการโดยสิ้นเชิง เขายอมรับวัตถุประสงค์เบื้องต้นของรัฐสวัสดิการ ไม่ปฏิเสธความจำเป็นที่ต้องมีการกระจายรายได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการโดยรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องด้วยวัตถุประสงค์และเจตนาของเขาต้องการให้เศรษฐกิจระบบตลาดได้มีโอกาสทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับความคิดของแซมมวลสัน ซึ่งคนอเมริกันสามารถรับได้ เขาได้ตั้งข้อสังเกตวาบทบาทต่าง ๆ ของรัฐควรจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวน้อยที่สุด และเข้าแทรกแซงกลไกตลาดน้อยที่สุด เช่น ในเรื่องรัฐสวัสดิการเขาเสนอให้รัฐบาลใช้ภาษีในทางลบ นั่นก็คือ ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ยากจนตามมาตรฐานของรายได้แทนการกำหนดรายได้ในระดับที่สมควรได้รับสวัสดิการจารัฐ เพราะเป็นการทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะเลือกว่าจะทำงานหรือขอรับสวัสดิการและอยู่โดยไม่ทำงานแทน วิธีใช้ภาษีในทางลบก็จะทำให้ทุกคนพยายามหางานทำอย่างเต็มที่ เขาเสนอให้ใช้คูปองทางการศึกษา (education voucher) โดยตรงกับผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษา แทนการที่รัฐให้เงินอุดหนุนสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมให้มีสภาพการแข่งขันในการให้บริการการศึกษา ฟรีดแมนชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการศึกษาของเราทุกวันนี้ไม่ใช่จะต้องพยายามทำให้ทุกคนเหมือนกัน แต่จะต้องสร้างให้เกิดความหลากหลาย          
            ฟรีดแมนเห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีรายได้จากการเก็บภาษีแต่เรียกร้องให้ใช้โครงสร้างที่ง่ายแก่การจัดเก็บ เป็นต้นว่า การใช้ภาษีอัตราเดียวสำหรับรายได้สูงกว่าที่ได้รับการยกเว้น ขจัดช่องโหว่ของการจัดเก็บภาษี การดำเนินนโยบายการเงินก็ควรจะเป็นไปอย่างง่าย คือ มีการเพิ่มปริมาณเงินในอัตราที่คงที่แน่นอนและควรปล่อยให้เงินดอลลาร์สหรัฐลอยตัว ไม่ผูกมัดกับค่าทองคำสำรองของประเทศ ซึ่งในอีกสามสิบปีต่อมา คือประมาณทศวรรษ ๑๙๙๐ ความคิดของเขาส่วนใหญ่ได้รับการนำมาปฏิบัติโดยรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา มีการลดการควบคุมในเรื่องต่าง ๆ (deregulation) การลดภาษี และทำให้โครงสร้างภาษีง่ายขึ้นเป็นเวลากว่า ๑๕ ปีก่อนหน้านั้นแล้ว นอกจากนั้นก็มีการปล่อยให้ค่าเงินลอยตัว ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร อีกทั้งมาตรการที่เสนอในปี ๑๙๖๒ ที่ถูกนำมาใช้บางส่วนคือ การเพิ่มปริมาณเงินในอัตราคงที่ การใช้ภาษีรายได้ที่เป็นลบ (หรือการให้เครดิตภาษีแก่ผู้ที่ไม่มีความสามารถจ่าย) มีการทดลองใช้คูปองทางการศึกษาในขอบเขตจำกัด มีการแข่งขันของบริการไปรษณีย์โทรเลขมากขึ้น ลดการควบคุมการออกใบอนุญาตประกอบอาชีพ และยกเลิกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ดังนั้นถือได้ว่าฟรีดแมนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก แต่ส่วนหนึ่งนั้นข้อเสนอของฟรีดแมนเองก็สอดคล้องกับผลประโยชน์และข้อเสนอส่วนใหญ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลสูงต่อรัฐบาลอเมริกันด้วยเช่นกัน ผลก็คือมีการกำหนดขอบเขตหน้าที่ของภาครัฐและตลาดชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งนอกจากจะมีข้อเสนอที่รัฐบาลสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ฟรีดแมนยังใช้สัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์เอามาใช้เพื่อแสดงสถานภาพในฐานะวิศวกรสังคมอีกด้วย โดยตัวฟรีดแมนเองได้ยกย่องความมหัศจรรย์ของตลาด (miracle of the market) ที่เปิดโอกาสให้เกิดสันติสุข และคนส่วนใหญ่ได้รับส่วนเฉลี่ยจากความมั่งคั่งอย่างกว้างขวาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น