วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Theory of the Social Contract)

ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Theory of the Social Contract)

                สำหรับความคิดเรื่องกำเนิดของรัฐ เริ่มด้วย ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Theory of the Divine Right) ซึ่งเชื่อว่ารัฐมีกำเนิดจากพระเจ้า กล่าวคือ พระเจ้าเป็นผู้ประทานดินแดนสร้างมนุษย์ ให้อำนาจตั้งรัฐบาล มอบอำนาจอธิปไตยให้ กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระเจ้า คือ ผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองทั้งหมดให้ทฤษฎีนี้ก่อให้เกิดผลสำคัญหลายประการ คือ
1) รัฐเกิดจากพระประสงค์ของพระเจ้า
2)
มนุษย์มิได้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรัฐ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบของรัฐ
3)
ผู้ปกครองรัฐได้อำนาจปกครองมาจากพระเจ้า ผู้ใดฝ่าฝืนอำนาจรัฐ ผู้นั้นฝ่าฝืนโองการพระเจ้า
4)
ประชาชนในรัฐจะต้องเชื่อฟังอำนาจรัฐโดยเคร่งครัด
ทฤษฎีนี้คลายความนิยมในเวลาต่อมา และเกิดทฤษฎีใหม่ขึ้นที่เรียกว่า ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Theory of the Social Contract) ซึ่งคัดค้านทฤษฎีเทวสิทธิ์ในข้อสำคัญหลายประการ ทั้งนี้ ทฤษฎีใหม่นี้เป็นผลมาจากความคิดของ Thomas Hobbes (1588-1679), John Locke (1632-1704), Jean Jacques Rousseau (1712-1778) ทฤษฎีใหม่นี้มีสาระสำคัญว่า
1) รัฐเกิดจากมนุษย์ หรือมนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐต่างหาก
2)
ในการสร้างรัฐ มนุษย์มารวมเข้าด้วยกันโดยมีเจตนาแน่นอน เสมือนทำสัญญาร่วมกันว่า จะผูกพันกัน เผชิญทุกข์เผชิญสุขร่วมกัน
3)
การที่มนุษย์มาผูกพันร่วมกันเช่นนี้ ถือว่าเป็นการทำสัญญาประชาคมขึ้น รัฐและรัฐบาล จึงเกิดจากสัญญาของมนุษย์ ถ้ารัฐบาลปกครองไม่เป็นธรรม ก็ถือว่าผิดสัญญาประชาคม รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะคู่สัญญา
4)
รัฐบาลจะต้องกระทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่ง รุสโซ เรียกว่า General Will โดยเฉพาะในข้อที่ว่า เจตนารมณ์ของประชาชนย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลจะละเมิดมิได้

John Locke                    Thomas Hobbes            Jean Jacques Rousseau
     
     
ทฤษฎีอีกทฤษฎีหนึ่งว่าด้วยกำเนิดของรัฐ คือ ทฤษฎีพลกำลัง (Theory of Force) ซึ่งเชื่อว่ารัฐเกิดขึ้นจากการยึดครองและการใช้กำลังบังคับ ทฤษฎีนี้เองที่นำไปสู่ความเชื่อในเรื่อง ชาตินิยม และความคิดที่ว่า รัฐคืออำนาจ ซึ่งอยู่เหนือศีลธรรมทั้งปวง

      
แต่อย่างไรก็ตาม ในบรรดาทฤษฎีทั้งหลายที่เกี่ยวกับการกำเนิดของรัฐ ทฤษฎีซึ่งสำคัญที่สุด และนับว่านิยมอ้างอิงกันมาก ก็คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ของอริสโตเติล ทฤษฎีนี้มีลักษณะเป็นจริงมากกว่าทฤษฎีก่อนๆ โดยที่มีสาระสำคัญว่า รัฐเกิดขึ้นจากวิวัฒนาการในทางการเมืองของมนุษย์ เมื่อเริ่มต้นมนุษย์รวมกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ มีความผูกพันทางสายโลหิต มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ดังที่เราเรียกกลุ่มเล็กๆ นี้ว่า เป็นวงศาคณาญาติกัน ต่อมาก็คลี่คลายขยายตัวรวมเอากลุ่มชนซึ่งอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน มีหัวหน้าร่วมกัน มีศาสนาหรือลัทธิความเชื่อถืออันเดียวกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเดียวกัน สังคมประเภทนี้คงเรียกว่าเป็นสังคมร่วมเผ่าพันธุ์ ซึ่งย่อมกว้างขวางกว่าสังคมประเภทวงศาคณาญาติ ต่อมาสังคมเผ่าพันธุ์ขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นนครใหญ่ เช่น นครรัฐกรีกในสมัยโบราณ และในที่สุดหลายรัฐหรือนครรัฐก็รวมเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิ มีการปกครองที่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จวบจนถึง รัฐ ชาติ ประเทศ ในปัจจุบัน

     
ทฤษฎีวิวัฒนาการนี้ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของอริสโตเติล ซึ่งเมื่อถือว่าการตั้งรัฐเป็นเรื่องของการเมือง การที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมในวิวัฒนาการของรัฐ จึงเท่ากับว่ามนุษย์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในวิวัฒนาการทางการเมืองด้วยอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ ทฤษฎีนี้จึงถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมืองและเป็นสัตว์สังคม นักรัฐศาสตร์ถือว่า ทฤษฎีนี้มีลักษณะสมจริง เพราะในการอธิบายถึงกำเนิดของรัฐ ได้ใช้ความรู้ในทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องอธิบาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น