วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

Food, Inc. ภาพสะท้อนความเลวร้ายและล้าหลังของอุตสาหกรรมอาหารในอเมริกา

ทุกวันนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมให้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คือความล้าหลังของกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเดิน ผิดจังหวะ’ (ในภาษาของ อัลวิน ทอฟเลอร์ นักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน) กับระบบนิเวศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติที่สุดในกระบวนการผลิต นั่นคือ อุตสาหกรรมอาหาร
ภาพยนตร์สารคดีที่ตีแผ่ความเลวร้ายและล้าหลังของอุตสาหกรรมอาหารในอเมริกา ที่รอบด้านที่สุดที่ผู้เขียนรู้จักคือ Food, Inc. ( เว็บไซต์ http://www.foodincmovie.com/ ) สารคดีปี 2009 เรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อุตสาหกรรมอาหารในอเมริกาไม่ได้มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการผลิตยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคและคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรและลูกจ้าง อันตรายที่ภาครัฐยังไม่ลงมือจัดการอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำยังให้ท้ายผู้ครองตลาดล้าหลังให้สามารถรักษาสถานภาพของตัวเองต่อไป โยนต้นทุนที่ตัวเองสร้างให้ตกอยู่กับเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม
Food, Inc. พาเราไปสำรวจ ต้นทุนที่มองไม่เห็นของอุตสาหกรรมอาหารในอเมริกาอย่างใกล้ชิดทุกแง่มุม ผ่านการถ่ายและแอบถ่ายโรงเลี้ยงไก่ โรงเลี้ยงวัว โรงฆ่าหมู โรงฆ่าวัว และบทสัมภาษณ์จากผู้มีส่วนได้เสียแทบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อย นักรณรงค์มาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร นักเขียนหนังสือขายดีเกี่ยวกับอาหาร และซีอีโอบริษัทอาหารออร์แกนิก น่าเสียดายที่สารคดีเรื่องนี้ขาดมุมมองของผู้บริหารบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ที่ ถูกเปิดโปง ไม่ว่าจะเป็น เพอร์ดู ไทสัน หรือมอนซานโต เนื่องจากผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ไม่ยอมให้สัมภาษณ์
สารคดีเรื่องนี้ตั้งต้นจากปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของคนอเมริกัน คือโรคอ้วนและโรคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนอย่างเช่นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ ความที่อาหารแคลอรีสูงหวานจัดเป็นอาหารที่ถูกที่สุดในอเมริกา ประกอบกับวิถีชีวิตติดทีวีติดอินเทอร์เน็ตจนไม่ออกกำลังกาย ทำให้ปัจจุบันเด็กอเมริกันกว่า 1 ใน 3 เป็นโรคอ้วน อัตราส่วนนี้สูงถึง 1 ใน 2 ในเด็กชนกลุ่มน้อย (อาทิ ชาวแอฟริกัน- อเมริกันและชาวอเมริกันเชื้อสายสเปน) ซึ่งมักจะทำงานหาเช้ากินค่ำและมีรายได้น้อยที่สุดในสังคม ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลเวลาป่วยเป็น โรคคนรวยที่ค่ารักษาแพงมากอย่างเช่นโรคเบาหวาน
ในเมื่ออาหารฟาสต์ฟู้ดมีราคาถูกกว่าอาหารสดมาก แถมยังไม่ต้องนำกลับไปปรุงเองที่บ้าน ผู้บริโภครายได้น้อยจึงย่อมมีแรงจูงใจที่จะซื้ออาหารฟาสต์ฟู้ดมากกว่า แต่ปัญหาใหญ่ 3 ประการที่ Food, Inc. ชี้ให้เห็นคือ 1. ราคาอาหารที่ถูกมากไม่ได้เกิดจากความสามารถในการประหยัดจากขนาด (economies of scale) ของบริษัทอาหารและความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก แต่เกิดจากนโยบายอุดหนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ, 2. อาหารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่ผู้บริโภครับรู้, และ 3. บริษัทอาหารไม่ได้ปฏิบัติต่อลูกจ้างและเกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นธรรม

1. ราคาอาหารที่ถูกมากเป็นผลจากนโยบายอุดหนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด
รัฐบาลอเมริกาจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดมาช้านาน เนื่องจากเป็นพืชที่อยู่ได้นานและให้พลังงาน (แคลอรี) สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ข้าวโพดมีราคาถูกมากจนกลายเป็นวัตถุดิบที่ใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรม อาหาร ได้รับการปรับปรุงตัดต่อพันธุกรรมอย่างต่อเนื่องและสกัดเป็นสารใส่อาหารชนิด ต่างๆ เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพดฟรัคโตสสูง (high-fructose corn syrup: HFCS) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ข้าวโพดกลายเป็นส่วนผสมของขนมขบเคี้ยว น้ำสลัด ซอสมะเขือเทศ และผลิตภัณฑ์อาหารอีกมากมาย รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคที่เราอาจนึกไม่ถึง อาทิ กาว สบู่ ถ่านไฟฉาย และแป้งเด็ก มีผู้ประเมินว่าอาหารกว่าร้อยละ 70 ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของอเมริกามีส่วนผสมของข้าวโพดหรือ HFCS
การที่ข้าวโพดมีราคาถูกมาก ปลูกได้ตลอดปี และเป็นพืชพลังงานสูงที่ขุนวัวให้อ้วนได้เร็ว กระตุ้นให้บรรดาบริษัทอาหารหันมาใช้ข้าวโพดเลี้ยงวัวแทนที่จะเลี้ยงด้วยหญ้า ตามธรรมชาติ ในพื้นที่ที่ใช้สำหรับขุนวัวโดยเฉพาะ (feedlot) ที่มีลักษณะเป็นโรงงานอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่ทุ่งหญ้าเขียวขจีแบบที่อยู่ในจินตนาการของคนทั่วไปเวลานึกภาพปศุสัตว์ ในชนบท

2. อาหารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่ผู้บริโภครับรู้
ลำพังการเลี้ยงสัตว์ด้วยข้าวโพดอาจไม่ทำให้ผู้บริโภคตกใจเท่าไรนัก ยกเว้นคนที่มองว่าวิธีเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมนั้นควรเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะทรมานสัตว์ – Food, Inc. ถ่ายให้เห็นสภาพน่าหดหู่ที่วัว หมู และไก่ในระบบอุตสาหกรรมถูกขุนให้อ้วนจนเดินไม่ได้ ชีวิตส่วนใหญ่หมดไปกับการยืนรอคอยความตายในกองอุจจาระของตัวเอง ไก่ดูจะมีชีวิตที่น่าสงสารกว่าเพื่อนเพราะถูกเลี้ยงในความมืดมิด ในโรงเลี้ยงที่ปิดฝาทั้งสี่ด้านไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องถึงวิธีผลิตอาหารแบบทรมานสัตว์นี้ใช่ว่าจะไม่มีผลพวงต่อมนุษย์เลย นอกจากการเลี้ยงแบบนี้จะไม่ถูกสุขอนามัยและสุ่มเสี่ยงจะทำให้โรคระบาดจาก อุจจาระมาสู่ผู้บริโภคได้ง่ายแล้ว ปัญหาขั้นพื้นฐานที่ Food, Inc. ชี้ให้เห็นคือ ถ้าให้วัวกินหญ้าตามปกติ กรดในกระเพาะของวัวจะทำลายแบคทีเรียที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ เช่น อี.โคไล ได้ แต่ข้าวโพดทำให้น้ำย่อยเป็นกรดมากขึ้น ทำให้ อี.โคไลชนิดร้ายแรงที่ทนกรดสามารถสืบพันธุ์และติดต่อไปสู่คนเมื่อวัวถูกฆ่า เป็นอาหาร น้ำกรดในกระเพาะของคนทำอะไรแบคทีเรียทนกรดชนิดนี้ไม่ได้เลย
Food, Inc. แนะนำให้เรารู้จักกับ บาร์บารา โควัลชิก แม่ของลูกชายอายุ 2 ขวบที่ตายจาก อี.โคไลที่ปนเปื้อนในเนื้อแฮมเบอร์เกอร์ เธอเฝ้าดูลูกชายแปลงสภาพจากเด็กน้อยสุขภาพแข็งแรงกลายเป็นศพภายใน 12 วัน โศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำให้บาร์บารากลายเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้ รัฐออกกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยในอาหาร แต่จวบจนปัจจุบันกฎหมายนี้ก็ยังไม่ผ่านสภา ในสารคดี เธอไม่กล้าแม้แต่จะกล่าวโทษบริษัทอาหารตรงๆ เนื่องจากกฎหมายหมิ่นประมาทอุตสาหกรรมอาหารในหลายมลรัฐเข้มงวดกว่ากฎหมาย หมิ่นประมาทปกติ แค่เอ่ยชื่ออาหารกว้างๆ (เช่น เนื้อวัว”) ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกบริษัทฟ้องได้
กรณีฟ้องร้องที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในปี 1996 เมื่อบริษัทเนื้อวัวแห่งหนึ่งฟ้อง โอปราห์ วินฟรีย์ นักจัดรายการทอล์คโชว์ชื่อดัง และแขกรับเชิญของเธอ ในข้อหาหมิ่นประมาททำให้เสียชื่อเสียง เมื่อโอปราห์เชิญผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาโรควัวบ้า (mad cow) ซึ่งกำลังระบาดในอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผู้บริโภคเนื้อวัวในอเมริกาเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหา เดียวกัน เนื่องจากใช้วิธีเลี้ยงวัวแบบอุตสาหกรรมเหมือนกัน โอปราห์สู้คดีนี้นานกว่า 6 ปีก่อนที่ศาลจะตัดสินว่าเธอไม่ผิด แต่ระยะเวลาและเงินค่าทนายที่หมดไปเป็นล้านเหรียญสหรัฐก็เป็นเครื่อง ปิดปากคนอื่นที่คิดจะวิพากษ์วิจารณ์วงการนี้ได้อย่างชะงัด
ถึงแม้ว่าปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกาจะระบุว่าชาวอเมริกัน กว่า 76 ล้านคนต้องล้มป่วยทุกปีจากโรคที่มากับอาหาร ในจำนวนนี้ 325,000 คนต้องนอนโรงพยาบาล และ 5,000 คนต้องเสียชีวิต สภาคองเกรสก็ยังไม่ปรับปรุงกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐหลายคนก็ยังเป็นคนที่เคยทำ งานให้กับบริษัทอาหารขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่มีอิทธิพลเพียงใดในแวดวงการเมือง

3. บริษัทอาหารไม่ได้ปฏิบัติต่อลูกจ้างและเกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นธรรม
กระบวนการผลิตอาหารแบบโรงงานในอเมริกานั้นไม่เพียงแต่ทรมานสัตว์และก่อให้ เกิดอันตรายและความเสี่ยงนานัปการต่อสุขภาพของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อแรงงานและชุมชนโดยรอบอีกด้วย โรงงานฆ่าสัตว์หลายแห่งจ้างแรงงานต่างด้าวชาวเม็กซิโกที่หนีเข้าเมืองมา อย่างผิดกฎหมาย สาเหตุหลักที่พวกเขาต้องหนีเข้าเมืองมาคือ สัญญาเปิดเสรีการค้านาฟตา (NAFTA) ระหว่างอเมริกากับเม็กซิโกส่งผลให้ชาวเม็กซิกันนับล้านคนต้องตกงานเพราะข้าว โพดที่พวกเขาผลิตสู้ราคาข้าวโพดจากอเมริกาที่รัฐบาลอเมริกันให้เงินอุด หนุนมหาศาลไม่ได้ บริษัทอาหารชอบจ้างชาวเม็กซิกันเหล่านี้เพราะความที่เข้าเมืองมาอย่างผิด กฎหมายแปลว่าบริษัทไม่ต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายอเมริกัน (เหตุผลเดียวกันกับที่บริษัทไทยหลายแห่งชอบจ้างแรงงานพม่าที่ลักลอบเข้า เมือง) ทำให้พวกเขาได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างตามกฎหมาย สภาพแวดล้อมในโรงฆ่าสัตว์ที่บังคับให้คนทำงานซ้ำซากและวัดผลงานเป็นวินาที นั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่น่าเศร้าที่สุดคือหลายบริษัทแกล้งปิดตาข้างเดียว ยอมให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาจับแรงงานนอกกฎหมายไปดำเนินคดีเป็นครั้งคราว แต่ละครั้งจับไปไม่กี่คน กระบวนการผลิตจะได้ไม่ต้องหยุดชะงัก แน่นอนว่าบริษัทอาหารไม่เคยถูกตำรวจดำเนินคดีด้วยเลย ทั้งที่เป็นนายจ้างที่จงใจจ้างแรงงานผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น
ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของปัญหาในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ Food, Inc. ตีแผ่และเชื่อมโยงให้เห็นอย่างน่าสนใจตลอด 90 นาที ยังไม่นับปัญหาอื่นๆ อีก อาทิ การพึ่งพาพันธุ์พืชและสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดในระบบอุตสาหกรรมทำให้ขาดความ ยืดหยุ่นและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด การที่อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนสำคัญในการก่อภาวะโลกร้อน ความเสี่ยงของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (อุตสาหกรรมอาหารคัดค้านข้อเสนอของนักรณรงค์ที่อยากให้ติดฉลากจีเอ็มโอบน ผลิตภัณฑ์ จวบจนปัจจุบันอาหารในอเมริกาก็ยังไม่มีฉลากนี้)
ในส่วนของเกษตรกรรายย่อย Food, Inc. ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีเกษตรกรน้อยรายที่ทำปศุสัตว์แบบผู้ประกอบการ อิสระเหมือนในอดีต เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ทำสัญญาเลี้ยงไก่แบบพันธสัญญา (contract farming) ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีสถานะเหมือนกับ ลูกจ้างของบริษัทอาหารแทนที่จะเป็น คู่ค้าแล้ว สัญญาเหล่านั้นยังทำให้เกษตรกรมีหนี้สินรุงรัง เพราะนอกจากจะต้องกู้เงินธนาคารมาลงทุนเองแล้วยังต้องคอยลงทุนอัพเกรดโรง เลี้ยงตามความประสงค์ของบริษัท ทำให้เกษตรกรอเมริกันเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 400,000-500,000 เหรียญ แต่มีรายได้จากการขายไก่ตามสัญญาปีละ 18,000 เหรียญเท่านั้น
เกษตรกรที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์แต่ทำการเพาะปลูกก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะบริษัทใหญ่อย่างมอนซานโตบังคับให้ใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงที่บริษัทจด สิทธิบัตร ปลูกได้ครั้งเดียว ห้ามเก็บเมล็ดไว้ปลูกในฤดูต่อไป ต้องกลับไปซื้อใหม่จากบริษัท เกษตรกรที่ใช้เมล็ดอื่นแต่ที่นามีเมล็ดของบริษัทหลงเข้ามาโดยบังเอิญเสี่ยง ที่จะถูกฟ้องในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร
Food, Inc. ไม่ได้เปิดโปงแต่ปัญหาเท่านั้น แต่ยังนำเสนอทางออกและแนวโน้มที่น่าลุ้นว่าอาจกลายเป็นกระแสหลักได้ในอนาคต นั่นคือ วงการเกษตรอินทรีย์และอาหารออร์แกนิกที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตาม กระแสความใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างวอลล์มาร์ทเริ่มเปิดแผนกอาหารออร์แกนิกแล้ว อย่างไรก็ตาม อาหารออร์แกนิกยังมีราคาสูงกว่าอาหารทั่วไปมาก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จึงย้ำว่า ภาครัฐจำต้องเปลี่ยนนโยบายระดับชาติเพื่อให้ประโยชน์ตกถึงผู้มีรายได้น้อย ด้วยการเลิกอุดหนุนการปลูกข้าวโพดและอาหารคุณภาพต่ำทั้งหลาย หันมาอุดหนุนอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการแทน และส่งเสริมมาตรฐานการผลิตออร์แกนิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลูกจ้าง และเกษตรกรรายย่อยมากกว่าอุตสาหกรรมอาหาร
ถ้าเราเชื่อว่าอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการนั้นมีคุณค่ามากกว่าอาหารคุณภาพ แย่ เราก็จะต้องหาวิธีทำให้อาหารประเภทแรกมีราคาทัดเทียมหรือถูกกว่าอาหารประเภท หลังให้ได้ เพราะตราบใดที่ราคายังไม่สะท้อน คุณค่าที่เราเชื่อมั่นและ ต้นทุนที่แท้จริงที่ธุรกิจเป็นผู้ก่อ รวมทั้งต้นทุนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ระบบทุนนิยมก็จะยังห่างไกลจากระบบที่มันควรจะเป็น.

ความท้าทายในธุรกิจอาหารออร์แกนิก ข้อคิดจาก สโตนีฟีลด์ ฟาร์ม  
ปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารที่ผู้เขียนสรุปความจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Food, Inc. ในข้างต้น โดยเฉพาะอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบกับกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคเองเกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุที่อธิบายว่าเหตุใดอาหารออร์แกนิกจึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่าง รวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวยที่ประชากรส่วนใหญ่คือชนชั้นกลางผู้มีทางเลือกมากมาย ตามขนาดของกำลังซื้อ
พจนานุกรมฉบับอ็อกซ์ฟอร์ดให้คำจำกัดความ ออร์แกนิกว่าไม่ผลิตโดยหรือใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีสังเคราะห์อื่นๆดังนั้น การที่ผู้บริโภคมองหาป้าย ออร์แกนิกและยินดีจ่ายแพงกว่าอาหารไม่ออร์แกนิก จึงเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า อาหารที่ไม่ออร์แกนิก นั่นคือ ผลิตโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีสังเคราะห์นั้น นอกจากจะลิดรอนสุขภาพของเกษตรกรผู้ปลูกและเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลเสียสะสมต่อสุขภาพของผู้บริโภคปลายทางเช่นกัน
งานวิจัยหลายชิ้น โดยเฉพาะชิ้นสำคัญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ในปี 2003 ชี้ว่า พืชผักที่ปลูกแบบออร์แกนิกน่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์มากกว่าพืชผักที่ ปลูกตามวิถีเกษตรกระแสหลักในปัจจุบัน เพราะผักออร์แกนิกมีวิตามินและสารประเภทโพลีฟีนอล (polyphenol) สูงกว่า โพลีฟีนอลช่วยกระบวนการสันดาปในร่างกายและทำหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่าง บางตัวเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) บางตัวช่วยต้านทานโรคมะเร็ง และบางตัวก็ช่วยกำจัดเชื้อโรคในร่างกาย พืชผลิตสารโพลีฟีนอลตามธรรมชาติเพื่อต่อสู้กับแมลงและเชื้อโรคต่างๆ การฉีดยาฆ่าแมลงส่งผลให้พืชผลิตสารโพลีฟีนอลน้อยลงเพราะมีมนุษย์มาช่วยแบ่ง เบาภาระ ในขณะเดียวกัน การใส่ปุ๋ยเคมีก็ทำให้ดินเสื่อมความหลากหลายทางชีวภาพจนพืชไม่มีวัตถุดิบมา ใช้ในการผลิตโพลีฟีนอล
เนื่องจากอาหารออร์แกนิกมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าและปลอดภัยกว่าอาหารไม่ ออร์แกนิก แต่ยังมีราคาแพงกว่ามาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอาหารฟาสต์ฟู้ดราคาถูกทั้งหลายที่เป็นอันตรายต่อ สุขภาพ นักโภชนาการและนักรณรงค์ในอเมริกาจึงกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกอุด หนุนราคาวัตถุดิบอย่างเช่นข้าวโพดที่ทำให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดตั้งราคาต่ำเตี้ย ติดดินได้ หันมาส่งเสริมอาหารออร์แกนิกแทนระบบตลาดเสรีจะทำงานได้ดีตามทฤษฎี ก็ต่อเมื่อ ราคาในตลาดสะท้อน ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อ และ ต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในตลาดใดก็ตามที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ข้อมูลที่จำเป็น ต้องเป็นผู้จ่ายต้นทุนของการบริโภคสินค้าด้อยคุณภาพในระยะยาว (เช่น ในรูปของค่ารักษาโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ ที่มาพร้อมกับโรคอ้วน) มิหนำซ้ำกลไกตลาดยังถูกบิดเบือนด้วยนโยบายแทรกแซงที่เข้าข้างผู้ผลิตสินค้า ด้อยคุณภาพ แทนที่จะส่งเสริมสินค้าที่สร้างต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ตลาดในโลกจริงก็ยังห่างไกลจากตลาดในตำราหลายขุม และรัฐบาลก็จะต้องกำกับดูแล (และบางครั้งก็อาจถึงขั้นแทรกแซง) อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผลลัพธ์ของตลาดออกมาตรงกับผลลัพธ์ที่สังคมปรารถนา
ประวัติการเติบโตของ สโตนีฟีลด์ ฟาร์ม (Stonyfield Farm , http://www.stonyfield.com/ ) ผู้ผลิตนมเปรี้ยวออร์แกนิกที่ขายดีที่สุดในโลก และขายดีเป็นอันดับสามในตลาดนมเปรี้ยวทั้งหมดในอเมริกา มีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่ความท้าทายของผู้ผลิตอาหารออร์แกนิกที่พยายามจะขยายขนาดและช่วงชิง ส่วนแบ่งการตลาดมาจากผู้ผลิตอาหารกระแสหลัก ไปจนถึงความตึงเครียดระหว่างอุดมการณ์กับ โลกแห่งความจริงของนักธุรกิจที่มีหัวใจ
สโตนีฟีลด์ ฟาร์ม ก่อตั้งในปี 1983 ด้วยอุดมการณ์โรแมนติกชวนฝันที่ตรงกับจริตของเหล่านักคิด ทางเลือกทั้งหลาย ผู้ก่อตั้งสโตนีฟีลด์คือ แกรี เฮิร์ชเบิร์ก (Gary Hirshberg) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ก่อตั้งฟาร์มเมื่อเขามีอายุเพียง 29 ปี ร่วมกับเพื่อนนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมนาม แซมมวล เคย์แมน (Samuel Kayman) เพื่อขายนมเปรี้ยวออร์แกนิกแบบธุรกิจขนาดเล็กเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก 6 คน เฮิร์ชเบิร์กให้สัมภาษณ์ว่าตอนนั้นเขารู้สึกขยะแขยงกับ วัฒนธรรมบริโภคนิยมกระแสหลักที่ล้างผลาญทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อม คุ้นชินกับการเห็นสีย้อมผ้าจากโรงงานรองเท้าไหลมาปนเปื้อนในแม่น้ำตั้งแต่ เด็ก ระหว่างปี 1979 ถึง 1983 เฮิร์ชเบิร์กเป็นผู้นำสถาบันวิจัยชื่อ New Alchemy Institute มุ่งรณรงค์ให้คนหวนกลับไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย นับว่าเป็นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ต่อต้านระบบทุนนิยมคนหนึ่งเลยทีเดียว
แต่เมื่อเริ่มทำกิจการได้ไม่นานเฮิร์ชเบิร์กก็พบว่า ลำพังอุดมการณ์โรแมนติกของเขาไม่ช่วยทำให้ฟาร์มเดินได้หรือสินค้าขายดี เม็ก เฮิร์ชเบิร์ก ภรรยาของเขาที่มีประสบการณ์ทำฟาร์มออร์แกนิกก่อนแต่งงานทวนความหลังให้ นิตยสาร บิสสิเนส วีค ฟังในปี 2004 ว่า ฟาร์มของพวกเขานั้นทั้งหนาวเหน็บและแออัด ถนนทางเข้าฟาร์มก็แย่เสียจนคู่ค้า (โดยเฉพาะผู้ส่งนม) ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะมาส่งวัตถุดิบ เฮิร์ชเบิร์กขาดทุนบ่อยครั้งจนสายป่านขาด ต้องขอยืมเงินแม่ยายมาต่ออายุกิจการ การทำฟาร์มโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และสารเคมีอื่นๆ เลยนั้นยากเย็นและใช้แรงงานมากกว่าที่คิด ผลผลิตต่อไร่หรือต่อวัวก็ต่ำกว่าการเกษตรกระแสหลัก อย่างน้อยก็ในระยะเริ่มแรก
หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมานานปีและลงมือปฏิบัติตามหลักการทำธุรกิจที่ถูก ต้อง รวมทั้งเรื่องการตลาด การบริหารจัดการเงินทุน และการดูแลเอาใจใส่ลูกค้า นมเปรี้ยวของเฮิร์ชเบิร์กก็ค่อยๆ ติดตลาด จนปัจจุบันสโตนีฟีลด์ไม่ได้เป็นฟาร์มอีกต่อไป หากเป็นบริษัทผู้ผลิตนมเปรี้ยวขนาดใหญ่ที่สั่งซื้อนมจากฟาร์มออร์แกนิกหลาย แห่ง มีรายได้กว่าปีละ 300 ล้านเหรียญ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 27 ต่อปีในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ในปี 2001 เฮิร์ชเบิร์กขายหุ้นร้อยละ 40 ในบริษัทให้กับดาโนน บริษัทผลิตภัณฑ์จากนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจุบันดาโนนถือหุ้นร้อยละ 85 ในสโตนีฟีลด์ แต่เฮิร์ชเบิร์กยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและซีอีโอของบริษัท ฟาร์มที่หนาวเหน็บ แออัด และเข้าถึงยากแห่งนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้สโตนีฟีลด์ผลิตนมเปรี้ยวในโรงงานไฮเทคในเมืองลอนดอนเบอร์รี รัฐนิวแฮมเชียร์ จากนมที่รับซื้อจากฟาร์มออร์แกนิก และในเมื่ออุปสงค์จากลูกค้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราที่ผู้ผลิตออร์แกนิกจะส่ง สโตนีฟีลด์ได้ อีกไม่นานบริษัทอาจต้องสั่งซื้อนมบางส่วนจากฟาร์มออร์แกนิกนอกประเทศ
ขนาดที่ใหญ่โตของบริษัทและระบบโรงงานที่ทันสมัยไฮเทคทำให้นักสิ่งแวดล้อมและ นักรณรงค์ขบวนการ หวนคืนสู่ธรรมชาติมองว่าเฮิร์ชเบิร์กได้ขายวิญญาณและกลายร่างเป็นนายทุนหน้าเลือดที่ละทิ้ง อุดมการณ์และอุดมคติ รวมทั้งหลัก ออร์แกนิกบริสุทธิ์ที่เคร่งครัดกว่านิยามออร์แกนิกตามกฎหมายอเมริกัน หลักออร์แกนิกบริสุทธิ์บอกว่า อาหารออร์แกนิกหรือวัตถุดิบควรมาจากฟาร์มที่อยู่ไม่เกินรัศมี 100 ไมล์ (จากผู้บริโภคปลายทางหรือผู้ผลิตที่รับซื้อจากฟาร์ม) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น คาร์บอนที่ปล่อยจากเครื่องบินที่บรรทุกวัตถุดิบมาส่ง) ให้เหลือน้อยที่สุด นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารออร์แกนิกก็ควรดูแลลูกจ้างอย่างดี จ่ายค่าแรงที่เป็นธรรม และพยายามทำธุรกิจให้ เขียวเท่าที่จะเขียวได้
เฮิร์ชเบิร์กกล่าวในสารคดีเรื่อง Food, Inc. ว่า เขาเข้าใจและเห็นใจผู้วิพากษ์เหล่านั้นดี แต่ก็ยืนกรานว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้น โดยเฉพาะการเริ่มรับซื้อวัตถุดิบจากทั่วโลก เป็นวิถีทางที่ถูกต้อง เพราะเขากำลังแย่งส่วนแบ่งตลาดมาจากธุรกิจอาหารกระแสหลักที่เป็นอันตรายต่อ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เฮิร์ชเบิร์กกล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมีอุดมการณ์ยังไง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายอดขายของเราที่ได้จากร้านค้าปลีกใหญ่ๆ อย่างวอลล์มาร์ทนั้นหมายถึงคาร์บอนที่ลดลง สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และสุขภาพผู้บริโภคที่ดีขึ้น เรื่องนี้ใครจะเถียงผมได้ครับ?”
ความท้าทายที่เฮิร์ชเบิร์กและบริษัทของเขากำลังเผชิญอยู่นั้นไม่ใช่กรณี พิเศษ บริษัทอาหารออร์แกนิกในอเมริกาและยุโรปที่ขยายขนาดถึงระดับประเทศก็กำลัง เผชิญกับความท้าทายเดียวกัน ในภาวะที่ผู้บริโภคกระแสหลักกำลังหันมาสนใจอาหารออร์แกนิกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมก็ยังทำให้ผู้บริโภค รู้สึกดีที่ได้มีส่วนช่วยสังคมอีกด้วย
กระแสความนิยมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าผลผลิตของวัตถุดิบอาหารเหล่า นั้นจะตามทัน (ไม่ว่าจะเป็นวัวออร์แกนิก ธัญพืชออร์แกนิกที่ใช้เลี้ยงวัว น้ำตาลออร์แกนิก ฯลฯ) ทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่านักธุรกิจอาหารออร์แกนิกจะต้องปรับตัว ลดความเข้มข้นของอุดมการณ์ ออร์แกนิกบริสุทธิ์ลง ใส่ความกระตือรือร้นของผู้ประกอบการที่อยากทำกำไรลงไปให้มากขึ้น เพราะการดำเนินธุรกิจอาหารออร์แกนิกขั้นบริสุทธิ์ไร้มลทินนั้นจะต้องใช้ ที่ดินและทรัพยากรมากกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่า
ยกตัวอย่างเช่น การหาทุ่งหญ้าพอให้วัวกินหญ้าเคี้ยวเอื้องอย่างสบายอารมณ์ แทนที่จะถูกขังอยู่ในคอกแคบๆ และกินเนื้อพวกเดียวกันเป็นอาหารนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากที่ไม่น่าจะแก้ไขได้เลยถ้าหากผู้ผลิตไม่ยอมลดความเข้มข้น ของอุดมการณ์ลง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ผู้ผลิตอาหารออร์แกนิกขนาดใหญ่หลายบริษัทเริ่มซื้อวัตถุดิบจากประเทศห่างไกล อย่างจีนและบราซิลแล้วเพราะวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ยิ่งฟาร์มออร์แกนิกของคู่ค้าอยู่ไกล ก็ยิ่งยากที่ผู้ผลิตจะรับรองมาตรฐานที่นักรณรงค์อาหารออร์แกนิกขั้ว บริสุทธิ์อยากเห็น เช่น ค่าแรงที่เป็นธรรม สภาพแวดล้อมในการทำงานปลอดภัย ฯลฯ
ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นทำให้คนทั้งในและนอกวงการหลายคนมองว่า ความสำเร็จของธุรกิจอาหารออร์แกนิกทำให้ อุดมการณ์ดั้งเดิมของพวกเขาตกอยู่ในอันตราย เพราะยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าการผลิตอาหารแบบออร์แกนิกจะทำซ้ำในระดับแมสได้ หรือไม่ เฮิร์ชเบิร์กไม่กังวลกับเรื่องนี้ เขามองว่าวงการอาหารออร์แกนิกกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สลัดความไร้เดียงสาแบบเด็กทิ้งไป เขาบอกว่าความสำเร็จของสโตนีฟีลด์ในตลาดกระแสหลักทำให้เฮิร์ชเบิร์กมีเงินมา ลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
ยกตัวอย่างเช่น สโตนีฟีลด์เป็นบริษัทแรกๆ ในอเมริกาที่วัดและประกาศร่องรอยคาร์บอนของผลิตภัณฑ์ คือตั้งแต่ปี 1999 (carbon footprint หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดอายุขัยของสินค้า ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงพฤติกรรมการบริโภคและทิ้งเมื่อใช้แล้ว) ข้อมูลจากการวัดร่องรอยคาร์บอนช่วยให้บริษัทปรับเปลี่ยนน้ำหนักที่ในโครงการ ลงทุนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับจุดยืนที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่หลอกลวงผู้บริโภคเหมือนกับหลายบริษัทที่ ฟอกเขียวเป็นนิสัย(เสีย)
นอกจากนี้ สโตนีฟีลด์ค้นพบว่าการผสมต้นป่านลงไปในอาหารวัวนั้น นอกจากจะทำให้วัวมีสุขภาพดีขึ้นแล้ว มันยังช่วยลดต้นทุนค่าวัตถุดิบเพราะมีราคาถูก ทั้งยังลดก๊าซมีเทน (ก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์) ที่วัวเรอออกมาอีกด้วย นับเป็นวิธีฉลาดที่ปรับปรุงสุขภาพของวัว เพิ่มผลกำไร และช่วยโลกไปพร้อมกัน
ความสำเร็จของสโตนีฟีลด์ ฟาร์ม แสดงให้เห็นว่า นักธุรกิจที่มีหัวใจนั้นจะช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รุมเร้าได้ จริงก็ต่อเมื่อมีความสามารถในการแข่งขันพอที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดมาจากธุรกิจ กระแสหลักที่ไม่เป็นมิตรกับสังคมจนกลายเป็นกระแสหลักใหม่ได้

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีทักทายกับทุกคนที่นี่ผมจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับนางเฮเลนาสินเชื่อบ้านองค์กรที่จะออกจากที่นี่เพื่อนำเสนอทุกชนิดของความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลทุกคนไม่ว่าสภาพของสถานะทางการเงินของคุณด้านล่างนี้มีชนิดของเงินให้กู้ยืมขอบคุณที่นำเสนอ .

    เราเสนอดังต่อไปนี้ประเภทของเงินให้สินเชื่อ
    สินเชื่อบุคคล (การรักษาความปลอดภัยและไม่มีประกัน)
    สินเชื่อธุรกิจ (การรักษาความปลอดภัยและไม่มีประกัน)
    สินเชื่อรวมต่ำลงหรือเป็นศูนย์การเงินเงินโปรแกรมที่มีจำหน่ายในอัตรา 2%
    อีเมล์ติดต่อ: loanconsolidationcenter01@gmail.com



    ข้อมูลแรกที่จำเป็นคือ:

    ชื่อเต็ม:
    รัฐในประเทศ:
    สถานที่:
    อายุ:
    ติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์:
    จํานวนเงินที่จำเป็น:
    เงินกู้ระยะเวลา:
    วัตถุประสงค์ของการกู้ยืม
    ขอบคุณและขอให้พระเจ้าคุ้มครอง

    อีเมล์ติดต่อ: loanconsolidationcenter01@gmail.com

    ตอบลบ